ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ประธรรมกรรมการ บริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทฯได้ร่วมกับมูลนิธิกำลังใจและรักชัยกรุ๊ป ที่มอบทุนสนับสนุนเป็นเงิน 2,047,000 บาท ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อการเฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 ในทั้ง 40 ตำบลของจังหวัดสมุทรสาคร
นับเป็นจังหวัดแรกของไทยที่มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพครบทุกตำบล ทั้งยังมีการติดตั้งเพิ่มเติมอีก 6 แห่ง คือที่ศาลากลางจังหวัด โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย ถนนเอกชัย บ้านท่าฉลอม วงเวียนน้ำพุ และศูนย์การค้าพอร์โต้ ชิโน่ รวมจำนวนทั้งหมด 46 เครื่อง เฉลี่ยราคาค่าติดตั้งเครื่องละประมาณ 44,500 บาท
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนชาวสมุทรสาครผู้สนใจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถติดตามดูค่าคุณภาพอากาศ จากทุกจุดที่ติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ผ่านแอปพลิเคชัน Air Sense ในสมาร์ทโฟนบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
ดร.สุวันชัย กล่าวต่อว่า หลังติดตั้งเครื่องตรวจสอบสภาพอากาศ และเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน Air Sense เพื่อติดตามสภาพอากาศตลอดเวลาที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 16-17 ธันวาคม 2564 พบว่าพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 ที่สูงเกินค่ามาตรฐาน หรือสูงเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร(มคก./ลบ.ม.) อยู่ในระดับสีส้มหลายพื้นที่ ประกอบด้วย
พื้นที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร มีค่าฝุ่นฯอยู่ที่ 53 มคก./ลบ.ม. พื้นที่สนามกีฬาจังหวัดฯ มีค่าฝุ่นฯ 59 มคก./ลบ.ม. พื้นที่ถนนเอกชัยมีค่าฝุ่นฯสูงสุดที่ 66 มคก./ลบ.ม. พื้นที่อบต.โคกขาม 52 มคก./ลบ.ม. พื้นที่อบต.บางโทรัด 55 มคก./ลบ.ม. พื้นที่อบต.ชัยมงคล 60 มคก./ลบ.ม.พื้นที่เทศบาลบางหญ้าแพรก 53 มคก./ลบ.ม.พื้นที่เทศบาลคอกกระบือ 52 มคก./ลบ.ม. พื้นที่เทศบาลบางปลา 55 มคก./ลบ.ม. และในวันที่ 18 ธันวาคม 2564 พื้นที่ถนนเอกชัย ค่าฝุ่นจิ๋วยังอยู่ที่ 55 มคก./ลบ.ม.
บริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมืองฯ ได้หารือกับนายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งก็เห็นด้วยว่าพื้นที่ที่มีปริมาณค่าฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน จะต้องช่วยกันดูแลแนะนำประชาชน ให้สวมใส่หน้ากากกันฝุ่น ลดกิจกรรมนอกบ้าน และทางหน่วยงานควบคุมดูแลมลพิษของทางราชการ จะต้องออกไปตรวจสอบหาสาเหตุที่มา และทำการแก้ไขต่อไป
"จำเป็นที่ประชาชนชาวสมุทรสาคร ต้องช่วยกันโหลดแอปพลิเคชัน Air Sense เพื่อติดตามคุณภาพอากาศร่วมกันให้ได้มากที่สุด อย่างน้อง 1 แสนคน เมื่อประชาชนตื่นตัวกันมาก ๆ เกิดกระแสเรียกร้องต้องการให้เร่งแก้ปัญหา จะเป็นตัวกระตุ้นให้หน่วยงานราชการ องค์กรท้องถิ่น ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ต้องตื่นตัวแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จะอยู่นิ่งไม่ได้ตามไปด้วย” ดร.สุวันชัย กล่าว
ด้านนายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ได้กำชับให้ท้องถิ่นและหน่วยงานราชการของจังหวัดฯ ตรวจสอบว่าพื้นที่ที่มีปริมาณค่าฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานนั้น มีสาเหตุมาจากอะไร เพื่อจะได้นำไปสู่การแก้ไขโดยเร็ว ส่วนการจะให้ผู้ก่อปัญหาต้องรับผิดชอบหรือจ่ายค่าก่อปัญหาหรือไม่นั้น ต้องนำมาพิจารณาและเสนอระดับนโยบายต่อไป
ขณะที่นายชุมพล จันทร์จรัสวัฒนา นายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร ได้เปิดเผยว่า พื้นที่เทศบาลนครสมุทรสาครเป็นผู้ได้รับผลกระทบ จากการที่มีผู้ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 เพราะเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานไม่มากนัก อย่างไรก็ตามได้เตรียมหารือร่วมกับทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)สมุทรสาคร ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ไม่นิ่งนอนใจ เนื่องจากเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งจังหวัดสมุทรสาคร
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่ห้องประชุมแสงสุขเอี่ยม ชั้น 6 โรงพยาบาลนครท่าฉลอม ต.ท่าฉลอม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร บริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ร่วมกับ มูลนิธิกำลังใจ รักชัยกรุ๊ป และโรงพยาบาลนครท่าฉลอม ได้จัดแถลง “การติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศเพื่อการเฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 ในทุกตำบลของจังหวัดสมุทรสาคร" โดยมี นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธาน
กิจกรรมนี้มีดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ประธานกรรมการบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง จำกัด(วิสาหกิจเพื่อสังคม) นายลือศักดิ์ ลือสุขประเสริฐ กรรมการบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมืองฯ ดร.ละมูล ลือสุขประเสริฐ ประธานกรรมการมูลนิธิกำลังใจและรักชัยกรุ๊ป และ นพ.เอกพร พรรณเชษฐ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลสมุทรสาคร ร่วมด้วย
โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อการเฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5 ในทุกตำบลของจังหวัดสมุทรสาคร และเพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงระดับคุณภาพอากาศในพื้นที่ตำบลของตนเอง ทั้งสามารถป้องกันตนเองได้ทันท่วงที ในกรณีที่คุณภาพอากาศไม่ดี รวมทั้งหน่วยงานในพื้นที่จะได้มีข้อมูลคุณภาพอากาศที่ใช้ประกอบการพิจารณา ดำเนินการแก้ไข
ขณะที่ค่าความน่าเชื่อถือของเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ทำขึ้น มีมาตรฐานเทียบเท่า หรือใกล้เคียงกับเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ ของกรมควบคุมมลพิษ ที่มีติดตั้งอยู่ 2 แห่งในจังหวัดสมุทรสาคร