แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง(ทล.)เปิดเผยว่า จากปัญหาความเดือดร้อนของชาวรังสิต จากการปิดจุดกลับรถใต้สะพานคลอง 1 รังสิต-นครนายก และ จุดกลับรถใต้สะพานคลอง 2 เพื่อก่อสร้างปรับปรุงใหม่ ซึ่งกรมฯได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัทมณีรัตน์การช่าง เป็นผู้รับผิดชอบโครงการทั้ง 2 จุด แต่เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณก่อสร้าง
ส่งผลให้งานล่าช้า และมีการขยายสัญญาเกิดขึ้น โดยผู้รับเหมาแจ้งว่า "ต้องใช้กระสอบทรายนับร้อย นับพันกระสอบแต่ก็เอาไม่อยู่ แต่ขณะนี้สถานการณ์สภาพพื้นที่เริ่มดีขึ้น ทางกรมฯได้กำชับให้ผู้รับเหมาเร่งดำเนินการในจุดที่ยังไม่แล้วเสร็จ ให้สามารถเปิดใช้โดยเร็ว"
“ในวันที่ 27 ธันวาคม 2564 จุดก่อสร้างปรับปรุงทางกลับรถคลอง1 รังสิต-นครนายก สามารถเปิดให้ประชาชนใช้งานได้แล้ว ส่วนจุดก่อสร้างปรับปรุงทางกลับรถคลอง 2 ทางผู้รับเหมาได้ปรับพื้นที่เพื่อเทหินคลุกเพื่อความปลอดภัย และเปิดให้ประชาชนสามารถใช้เป็นการชั่วคราว
ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2564- 4มกราคม 2565 หรือในช่วงปีใหม่ เพื่อสนองนโยบายกระทรวงคมนาคมที่ต้องการให้พี่น้องประชาชนได้รับความสะดวกสบายการเดินทางช่วงปีใหม่ด้วย และเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาเปิดชั่วคราว ก็จะได้ปิดเพื่อให้ผู้รับเหมาเร่งลงมือก่อสร้างต่อไป” แหล่งข่าวระดับสูงย้ำ
ด้านประธานศูนย์ตักศิลารังสิต ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมที่ออกมาสะท้อนความเดือดร้อนของชาวรังสิตในเรื่องนี้ แสดงความเห็นว่า การเร่งงานก่อสร้างเพื่อเปิดจุดกลับรถคลอง1 รังสิต-นครนายก ถือเป็นการผ่อนคลายปัญหาระดับหนึ่ง จากปิด2 จุดเหลือปิด1 จุดเพราะจะรอให้ตำรวจประตูน้ำจุฬาลงกรณ์เปิดจุดกลับรถบริเวณหน้าไปรษณีย์น่าจะยาก
เพราะพวกเขายังมองไม่เห็นปัญหาความเดือดร้อนชาวบ้านดีพอ ส่วนการเปิดใช้ชั่วคราวจุดกลับรถคลอง 2 และจุดที่งานไม่แล้วเสร็จถือว่ายังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่อดสงสัยไม่ได้ว่าการไม่นำป้ายไปปิดประกาศให้ประชาชนรู้ว่างานจะเสร็จเมื่อไหร่ เพราะอะไร หรือว่าป้ายมันราคาแพง ชาวบ้านเองก็อยากรู้ว่าขยายจากครั้งแรกมาครั้งที่ 2 ไม่เสร็จมาครั้งที่ 3 ถามว่า ขยายมาครั้ง3 จะเสร็จเมื่อไหร่? และจุดอื่นๆใต้สะพานคลอง3 คลอง4 คลอง 5 ได้ตามงานล่าช้ากันอย่างไรหรือไม่
“ตัวแทนกรมทางหลวงในพื้นที่ ต้องส่งคนไปกำชับผู้รับเหมาในพื้นที่มากกว่านี้ อย่างจุดคลอง 2 บางทีเมื่อไม่มีป้ายปิดประกาศงานก่อสร้างปรับปรุงอย่างเป็นทางการเป็นกิจลักษณะ มีคนมือบอนยกกรวย ยกแผงส้มออก ทำให้มีรถลงมาจาก2 ข้าง มาจ๊ะเอ๋กันในอุโมงค์ มันอันตราย เผลอๆมีเรื่องทะเลาะกันใหญ่โตตามมา มันไม่คุ้มกับความสูญเสีย กว่าตำรวจประตูน้ำจุฬาจะมาถึงก็เกิดเรื่องไปถึงไหนแล้ว จังหวัดก็เคยสั่งให้บูรณาการหน่วยงาน ทั้งแขวงทางหลวง เทศบาล ตำรวจ ปภ. และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ไม่รู้ว่าได้ปรึกษาหารือกันบ้างหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ต้องเช็กลิสต์กัน อย่าทำไม่รู้ร้อน รู้หนาวกับความทุกข์ของชาวบ้าน”
ประธานศูนย์ตักศิลารังสิตฝากย้ำถึงหน่วยงานรัฐใส่ใจความเดือดร้อนประชาชนมากกว่านี้