บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เร่งปรับปรุง พัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 เพิ่มขีดความสามารถทั้งระบบทางวิ่งและศักยภาพภายในพื้นที่ท่าอาศกาศยานดอนเมืองรองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นใอนาคต หากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เปิดเผยว่าสำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงิน 36,829 ล้านบาท ปัจจุบันทอท.อยู่ระหว่างดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด (Design&Build) วง เงิน 600 ล้านบาท ก่อนดำเนินการเปิดประมูลเพื่อหาผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ให้โครงการทั้งหมดของทอท.ดำเนินการออก แบบในรูปแบบ Detail&Design ซึ่งจะเริ่มดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบได้ภายในเดือนมกราคม 2565 คาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้างภายในเดือนมีนาคม 2565 ใช้ระยะเวลาออกแบบโครงการราว 1 ปี
ขณะเดียวกันหลังจากออก แบบแล้วเสร็จ ทางทอท. จะนำผลการศึกษาออกแบบพร้อมกับงบประมาณของโครงการฯ เสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ เบื้องต้นจะดำเนินการเปิดประมูลหาผู้รับจ้างก่อสร้างภายในต้นปี 2566 ระยะเวลาก่อ สร้าง 3 ปี เปิดให้บริการภายปี 2569 ปัจจุบันทอท.ได้ดำเนินการปรับปรุงรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(สผ.) อนุมัติเห็นชอบแล้ว หากผู้รับสัมปทานจะดำเนินการปรับ ปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติม เบื้องต้นผู้รับสัมปทานต้องเป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบเอง
ส่วนโครงการก่อสร้างอาคาร Junction Building ในพื้นที่สนามบินดอนเมือง เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน เบื้องต้นอยู่ระหว่างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการฯ หลังจากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนพิจารณาได้ภายในกลางปี 2565 จะเริ่มเปิดประมูลภายในต้นปี 2566 พร้อมกับการประมูลก่อ สร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3
“สาเหตุเปิดประมูลพร้อมกัน เนื่องจากทางผู้ลงทุนต้องมีความมั่นใจว่าทอท.จะดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 แน่นอน คาดว่าได้ผู้ชนะการประมูลและลงนามสัญญาโครงการก่อสร้างอาคาร Junction Building ภายในกลางปี 2566 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี เปีดให้บริการปี 2568”
สำหรับรูปแบบการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 เป็นการออก แบบเพื่อรองรับอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ เบื้องต้นมีการปรับปรุงอาคารรองรับผู้โดยสารหลังที่ 1 เป็นอาคารรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ จากเดิมที่ปัจจุบันเป็นอาคารรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับอาคารรองรับผู้โดยสารหลังที่ 2 เพื่อรอง รับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 50 ล้านคนต่อปีในอนาคต
ทั้งนี้จะมีการปรับปรุงทางเข้า-ออก บริเวณทางเชื่อมกับทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทรลเวย์ จาก 2-4 ช่องจราจรเป็น 5-6 ช่องจราจรและอาคาร จอดรถและก่อสร้างอาคารสำนักงานโดยย้ายอาคารสำนักงานอย่างด้านทิศเหนือเพื่อแยกพื้นที่สัญจรออกจากผู้โดยสารและก่อสร้างอาคารใหม่ทดแทนอาคารเดิมที่ทรุดโทรม รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สำหรับพนักงาน ตลอดจนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายใน เพื่อให้มีความสะดวกมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงลานจอดอากาศยานให้เหมาะสมกับเครื่องบินในปัจจุบันเป็น 138 หลุมจอด จากเดิมมี 108 หลุมจอด และติดตั้งสะพานเทียบ เป็น 44 จุด จากเดิม 27 จุด เพื่อรองรับอากาศยานต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทอท.จะปรับปรุง อาคารคลังสินค้าหลังที่ 1 และอาคารคลังสินค้าหลังที่ 2 เนื่องจากอาคารคลังสินค้าทั้ง 2 แห่ง มีสภาพเก่าและมีหลายจุดที่มีปัญหา ทำให้ไม่สามารถใช้งานอาคารได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจึงต้องดำเนินการปรับปรุงพื้นที่การให้บริการ พื้นที่รองรับสินค้าและงานระบบต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันท่าอากาศยานดอนเมืองเปิดให้บริการอาคารคลังสินค้าหลังที่ 1 ในรูปแบบการให้บริการทั้งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศโดยสินค้าระหว่างประเทศจะเป็นสินค้าในลักษณะคลังสินค้าทัณฑ์บน ขณะเดียวกันสินค้าที่นำเข้ามาหากเจ้าของยังไม่ต้องการนำมาจำหน่ายภายในประเทศจะถูกฝากไว้ในคลังโดยไม่เสียภาษี ส่วนอาคารคลังสินค้าหลังที่ 2 ปัจจุบันเป็นพื้นที่ขนส่งสินค้าที่ไม่ได้ใช้งานแต่มีการเปิดใช้งานสำหรับสำนักงานเพียงบางส่วนเท่านั้น