ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง เผยว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุม SWOC กรมชลประทาน เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ การเพาะปลูกในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำระยะฝนทิ้งช่วง พร้อมเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกในพื้นที่ภาคกลาง ช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 รวมถึงการเตรียมความพร้อมแผนงานโครงการ เพื่อเสนอของบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตาม 9 มาตรการ ที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำภาคกลางในช่วงแล้งนี้ ตามที่ สทนช.รายงานสถานการณ์น้ำปัจจุบัน พบว่า 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวม 13,651 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 55% ของความจุอ่างฯ รวมกัน ปริมาณน้ำใช้การ 6,992 ล้าน ลบ.ม. หรือ 39% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,072 ล้าน ลบ.ม. จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัดให้เป็นไปตามแผนเพื่อให้ไม่กระทบกับกิจกรรมการใช้น้ำตามลำดับความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องน้ำอุปโภค-บริโภค
พร้อมกันนี้ได้กำชับให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งมีหน้าที่ในการให้คำแนะนำ กำกับ ประสานการปฏิบัติ รวมถึงเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการ โดยคำนึงถึงแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุรองรับสถานการณ์น้ำภัยแล้งในบางพื้นที่ไว้ล่วงหน้าด้วย
นอกจากนี้ในวันที่ 24 ม.ค.นี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีแผนการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในภาพรวมในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อรับฟังความก้าวหน้าการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตาม 9 มาตรการรองรับสถานการณ์แล้ง การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งและมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 แผนบริหารจัดการการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา รวมถึงแผนการปลูกข้าวนาปรังในเขตพื้นที่พื้นที่ลุ่มต่ำที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในพื้นที่ จ.ชัยนาท และสิงห์บุรี รวมถึงเร่งรัดติดตามแผนงานโครงการการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุปสรรคและบูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้ติดตาม เร่งรัด การดำเนินโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ โครงการสำคัญให้เป็นไปตามแผนและข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีที่ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานด้านน้ำของทุกหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนที่มีแผนหลักและกรอบวงเงินงบประมาณแล้ว อาทิ การพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด การพัฒนาคลองเปรมประชากร การพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ แผนบรรเทาอุทกภัยเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ แผนป้องกันน้ำหลากเจ้าพระยา 9 แผน รวมถึงแผนงานที่อยู่ระหว่างจัดทำแผนและกรอบวงเงิน ได้แก่ แผนป้องกันน้ำท่วมบริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางปู การแก้ปัญหาน้ำเสียพื้นที่จังหวัดราชบุรีแผนการกำจัดผักตบชวา เป็นต้น