ความสำคัญของเศรษฐกิจในภาคตะวันออก ถือเป็นแหล่งผลผลิตทางการเกษตร แหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นของเมืองไทย และยังเป็นฐานการผลิตในการขับเคลื่อนการลงทุนที่สำคัญ ภายใต้พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) ที่มีแนวทางในการจัดหาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัว ทั้งในระดับเมือง ชุมชน และภาคครัวเรือน รวมถึงการเคลื่อนย้ายของจำนวนประชากร ที่เกิดขึ้นในอนาคต
ทรัพยากรน้ำ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญอันจะนำมาสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้ ดังนั้นด้วยศักยภาพของพื้นที่ จันทบุรี แม้ว่าจะมีปริมาณฝนตกในปริมาณมากของทุกปี แต่ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ลาดชันทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้งได้ มักจะทำให้เกิดภัยพิบัติ น้ำไหลหลาก
ดังนั้นกรมชลประทาน ได้ร่วมกับจังหวัดจันทบุรี ชุมชนต่างๆในลุ่มน้ำคลองวังโตนด ได้กำหนดทิศทางการพัฒนา อ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง เพื่อแก้ปัญหาแบบบูรณาการ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงด้านแหล่งน้ำในพื้นที่ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในช่วง 10 ปีข้างหน้า (ปี 2574) คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น รวม 358 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
ผลการศึกษาความเป็นไปได้ ศักยภาพของ 4 อ่างเก็บน้ำที่น่าสนใจ และเป็นประโยขน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนด ที่จะมารองรับการใช้น้ำในกิจกรรมของประชาชน และฟื้นฟูระบบนิเวศของป่า ประกอบด้วย คืออ่างคลองประแกด คลองพะวาใหญ่ คลองหางแมว และคลองวังโตนด
อ่างคลองประแกด ได้เริ่มดำเนินก่อสร้างเมื่อ ปี 2554 และดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อปี 2561 ทำให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้มีแหล่งเก็บกักน้ำ และใช้ในฤดูแล้งที่มักมีปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งเคยเกิดขึ้นและสร้างความเสียหายรุนแรงเมื่อปี 2535 โดย มีความจุ 60.26 ล้านลูกบาศก์ช่วยสร้างความมั่นคงให้พื้นที่การเกษตรได้ถึง 46,000 ไร่ทีเดียว
อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2560 อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง มีแผนก่อสร้างเสร็จ และส่งมอบปี 2565 ซึ่งช่วยส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก ช่วงฤดูฝนได้ 54,000 ไร่ และ ส่งน้ำผ่านระบบชลประทานช่วงหน้าแล้งได้ 21,600 ไร่ และส่งน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภคปริมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในเขตอำเภอแก่งหางแมวจ. จันทบุรีและการอุตสาหกรรม รวมถึงยังสามารถส่งเสริมเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำ แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอีกแห่งหนึ่ง
อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2560 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และมีกำหนดการแล้วเสร็จพร้อมเริ่มกักเก็บน้ำได้ในปี 2565 โดยเมื่อแล้วเสร็จจะเก็บกักน้ำได้ 80.70 ล้าน ลบ.ม. ใช้สำหรับการเกษตร และอุปโภค บริโภคให้กับประชาชน ในเขตพื้นที่โครงการ ประมาณ 1,600 ครัวเรือน สามารถส่งน้ำ เพื่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝน 62,000 ไร่ และสามารถจัดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้งได้ 14,000 ไร่
อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด อยู่ระหว่างการจัดทำ EHIA โดยหากแล้วเสร็จ จะมีความจุ 99.5 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 87,700 ไร่ เป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อการอุปโภค-บริโภค 3.89 ล้านลบ.ม./ เป็นแหล่งน้ำสำรองน้ำดิบให้ กปภ.จันทบุรี 15 ล้านลบ.ม./ปี ซึ่งจะช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนด 5,575 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอคือ อ.ท่าใหม่ อ.นายายอาม และ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี
ทั้งนี้ทุกภาคส่วนมั่นใจว่าจะได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ตามแผนการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนด ที่มีความสามารถเก็บกักน้ำต้นทุนรวมกันได้ถึง 308.50 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 249,700 ไร่ ซึ่งจะทำให้รูปแบบของการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนดเป็นโมเดลการบริหารน้ำที่สำคัญของประเทศ ที่สามารถบูรณาการแก้ปัญหาเรื่องน้ำทั้งระบบ น้ำท่วม น้ำแล้ง
และผลักดันน้ำเค็มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างความอุดมสมบูรณ์ตลอดลุ่มน้ำ และยังเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าภาคตะวันออกที่สำคัญ และแก้ไขปัญหาแหล่งหาอาหารของช้างได้อย่างเห็นผล
แผนการพัฒนาทั้งหมดล้วนเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในจ.จันทบุรี เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ในการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ หรือกล้วยไข่ สร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 25,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังสามารถผันน้ำส่วนเกินส่งไปช่วยเสริมความมั่นคงให้กับพื้นที่ EEC ได้มากถึงปีละประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม. อีกด้วย