ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยอาจกลับมาสูงขึ้นได้อีก โดยเฉพาะจากปัจจัยการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและสภาพคล่องของครัวเรือน
แม้เบื้องต้นจะมีข้อมูลว่าไวรัสดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบต่อร่างกายมากเท่ากับสายพันธุ์ก่อน ๆ แต่การแพร่ระบาดได้ส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของทุกภาคส่วน นำไปสู่การชะลอการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมถึงการออกมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด
ผลกระทบกับเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จะกระทบกับหลายส่วน กลไกดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อรายได้และสภาพคล่องของครัวเรือน ผลักดันให้แนวโน้มความต้องการสินเชื่อเพื่อทดแทนสภาพคล่องของครัวเรือนกลับมาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นได้อีกครั้ง
EIC มองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนมีโอกาสกลับมาเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะอยู่ในช่วง 89.5%-90.5% ต่อ GDP ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 นี้ ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลัง หลังการแพร่ระบาดของ Omicron เบาบางลงและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว
EIC มองว่า ในระยะต่อไปที่ครัวเรือนไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงของการซ่อมแซมงบดุล (deleverage) ยังถือว่า เป็นช่วงที่มีความเปราะบางสูง ดังนั้น จึงต้องอาศัยมาตรการหลายด้านประกอบกัน เพื่อให้สถานะทางการเงินของภาคครัวเรือนฟื้นตัวได้อย่างราบรื่น เนื่องจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 ยังไม่หายไป อันจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งสำคัญต่อรายได้
ประกอบกับภาคครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยยังมีความท้าทาย ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในช่วงที่ความต้องการสภาพคล่องยังมีอยู่มาก นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ทั้งมาตรการเยียวยาด้านรายได้ โดยเฉพาะสำหรับครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง การสนับสนุนการจ้างงาน การปรับ-เพิ่มทักษะแรงงานเพื่อเพิ่มความสามารถในการหารายได้ของภาคครัวเรือน การปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาระการผ่อนชำระสอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงและฟื้นช้า ไปจนถึงการเสริมสภาพคล่องแก่ภาคครัวเรือนกลุ่มเปราะบางเพื่อลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาที่ก่อตัวขึ้นมาแล้ว และอาจทวีความรุนแรงขึ้นหากไม่มีความช่วยเหลือที่ตรงจุด
EIC มองว่า กลุ่มมาตรการเหล่านี้ ยังมีความจำเป็นอยู่มาก โดยจะต้องมีระยะเวลาการช่วยเหลือที่ยาวนานเพียงพอ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และการปรับตัวของภาคครัวเรือนทั้งการหารายได้เพิ่มเติม และการซ่อมแซมงบดุลก็จำเป็นต้องใช้เวลาเช่นกัน