นายเจตน์ เกตุจำนง นักธุรกิจไทยในสปป.ลาว และที่ปรึกษาสถาบันภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ อาทื หอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด เปิดเผย” ฐานเศรษฐกิจ”ว่า โครงการรถไฟจีน-ลาวมีการเปิดเดินรถแล้ว ภาครัฐต้องกระตือรือล้นมากกว่านี้ ในการบูรณาการทุกฝ่าย เร่งแก้ไขปรับปรุงพัฒนากฎ ระเบียบ ข้อกำหนดต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการขนส่งสินค้าและการเดินทางข้ามประเทศ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในอนาคต โดยใช้ทูตพาณิชย์ในพื้นที่เป็นตัวเชื่อมเสริมจากที่ทำอยู่แล้ว
ขณะที่เอกชนเองต้องผนึกกำลัง หาข้อสรุปแล้วรีบเสนอภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาข้ออุปสรรคต่าง ๆ ต้องเดินไปพร้อมกัน เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายการใช้ศักยภาพของโครงการรถไฟจีน-ลาว ที่มาจ่อถึงหน้าประตูบ้านแล้ว ให้มาเป็นโอกาส ต่อยอดจากตลาดจีนและเพื่อนบ้าน ขยายสู่ตลาดใหม่ ๆ ในยุโรป ที่ระบบรางของจีนเชื่อมโยงไปถึงแล้ว และเป็นการขนส่งที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าระบบอื่น ปัญหาคือระบบรางของไทยต่างจากโครงการรถไฟจีน-ลาว ต้องหาแนวทางแก้ไขแตกต่างให้เชื่อมต่อกันได้โดยไม่มีปัญหา
นายเจตน์กล่าวต่อถึงโอกาสของเอกชนไทย ที่ทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้าไปประเทศจีน โดยเฉพาะสินค้าภาคการเกษตรชนิดต่าง ๆ ของภาคอีสาน ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง พืชผักผลไม้ และ ฯลฯ
ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนวิธีการขนส่ง จากเดิมทางเรือที่ต้องใช้เวลานานเป็นเดือนกว่าจะถึงปลายทาง และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงทำให้มีต้นทุนสูงตามไปด้วย มาเป็นทางรถไฟจีน-ลาว ที่นักวิชาการขนส่งคำนวณแล้วว่ามีค่าใช้จ่ายถูกกว่า เร็วกว่า ทำให้สินค้าพืชผัก ผลไม้ยังมีความสดใหม่ เป็นที่พอใจของลูกค้าด้วย
"แต่ปัญหาเวลานี้คือเรื่องของกฎ ระเบียบการขนส่ง ระหว่างประเทศของประเทศไทย กับระบบรถไฟจีน-ลาว ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่ได้มีการปรับปรุงพัฒนาแก้ไขให้เอื้ออำนวย เช่น กฎระเบียบการขนส่งนำเข้าสินค้าประเภทต่าง ๆ ที่มีข้อแตกต่างกันทำให้เกิดปัญหา เช่น ข้อติดขัดการขนส่งทุเรียนไทยไปกับรถไฟจีน-ลาว ที่ยังต้องรอไปถึงกลางปี 2565 ทำให้สินค้าทุเรียนไทยเสียโอกาสในตลาดจีน เสียเปรียบกับประเทศคู่แข่งหรือไม่"
เบื้องต้นเอกชนในพื้นที่เห็นว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทุกประเทศ คือ ไทย-ลาว-จีน ต้องหันมาเร่งพูดคุยกันถึงปัญหาที่มี และแนวทางการแก้ไขปรับปรุงกฎ ระเบียบ ข้อกำหนด ที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือกฎระเบียบข้อกำหนดใหม่ ๆ ที่จะทำให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรม สามารถดำเนินธุรกิจไปได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย
ปัจจุบันนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) มีโครงการก่อสร้างศูนย์รวมสินค้าที่สถานีนาทา จ.หนองคาย มีการจัดขบวนรถสินค้าบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ขบวนละ 25 แคร่/ตู้ เดินรถระหว่างสถานีนาทา-ท่านาแล้ง ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 หนองคาย ไป-กลับวันละ 10 เที่ยว จังหวัดบึงกาฬที่มีพื้นที่ปลูกยางพารามาก มีผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิตรายใหญ่ส่งให้ประเทศจีน ได้รับผลประโยชน์ในการขนสินค้าผ่านศูนย์รวมสินค้าดังกล่าว
ขณะเดียวกันได้รับแจ้งจากนักธุรกิจลาวว่า มีเอกชนลาวลงทุนก่อสร้างท่าเรือบก (ลาวเรียกท่าบก) ที่ท่านาแล้ง และรัฐบาลสปป.ลาวได้อนุมัติให้มีการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงต่อขยายจากสถานีท่านาแล้งถึงสถานีเวียงจันทน์ แล้ว ดังนั้น เอกชนไทยที่ทำธุรกิจนำเข้าส่งออก จึงต้องพิจารณา และร่วมกับทุกฝ่ายใช้โอกาสตรงนี้
นายเจตน์ย้ำอีกว่า ไทยต้องให้ความสำคัญการเชื่อมการขนส่งกับโครงการรถไฟจีน-ลาว โครงการศูนย์รวมสินค้าสถานีนาทา จ.หนองคาย ท่าบกที่ท่านาแล้ว สปป.ลาว ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้การเชื่อมต่อสะดวกและคล่องตัวที่สุด ทั้งการเชื่อมต่อของระบบราง หรือระเบียบข้อกำหนดต่าง ๆ ถ้าต่อยอดให้สามารถขนส่ง นอกจากไปตลาดจีนแล้ว ถ้าต่อไปถึงยุโรปได้ จะเป็นช่องทางขนส่งใหม่ให้เลือกเพิ่มอีกทาง โดยไม่ต้องรอโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนแล้วเสร็จ
นอกจากนี้แล้วควรทบทวนโครงการกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ที่มี เช่น โครงการความร่วมมือหกเหลี่ยมเศรษฐกิจ โครงการความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า(เมียนมา) โครงการระเบียงเศรษฐกิจหลาย ๆ โครงการ หรือ โครงการความร่วมมือ 3 ประเทศ 9 จังหวัด หรือโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก(EasWest Economic Corridor-EWEC)เมียนมา-แม่สอด-มุกดาหาร-สะหวันเขต-เวียดนาม ที่เป็นโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมประเพณี การท่องเที่ยว การค้า ขาย ฯลฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
ด้านนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าไทย (ภาคอีสาน/ประธานพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เคยกล่าวว่า การเปิดใช้รถไฟจีน-ลาว จะเป็นโอกาสของภาคอีสานและประเทศไทย ที่จะฉกฉวยโอกาสดังกล่าว เอามาทำให้เกิดประโยชน์ต่อเอกชนและภาครัฐของไทย พร้อมกับชี้ว่าทุก ๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะระบบการขนส่งไทย จะต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อม เพราะหากไม่มีการดำเนินการหรือล่าช้าจะทำให้เกิดเสียโอกาส
ด้านการเดินทางท่องเที่ยวที่จะมากับรถไฟจีน-ลาวที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้นั้น ในฐานะที่เป็นผู้นำองค์กรที่ดูแลภาคอีสาน ได้เตรียมความพร้อมแล้ว ทั้งขอให้รัฐส่งเสริมโครงการท่องเที่ยวริมโขง 7 จังหวัด ให้เชื่อมต่อกับภาคเหนือ การเตรียมพร้อมพัฒนาการขนส่งเชื่อมโยงกับศูนย์รวมสินค้าท่านาแล้งของสปป.ลาว
ที่ผ่านมานั้น ความสัมพันธ์ทางการค้าไทย-ลาว โดยเฉพาะในภาคอีสานตอนบน มีสายสัมพันธ์ที่สนิทแนบแน่น ทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว มีการพูดคุยทั้งระดับกรรมการชายแดนท้องถิ่น และจังหวัดกับแขวง แต่ละปีมีมูลค่าค้าชายแดนจำนวนสูงที่สุด
“เอกชนเองต้องอาศัยโครงการรถไฟจีน-ลาวเป็นเวทีนำร่อง เพื่อนำไปสู่เวทีโครงการความร่วมมืออื่น ๆ ที่จัดตั้งขึ้นมาในอดีตให้เกิดประโยชน์ เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมาย หลังจากภาครัฐเป็นคนส่งไม้ต่อ โดยทุกฝ่ายต้องเดินไปพร้อม ๆ กัน รู้จักใช้และเสนอต่อรัฐให้เป็น” นายสวาทกล่าวย้ำ