“นมโรงเรียน” ฉาว เรียกเก็บหัวคิว เงินเยียวยาโควิด 30 สตางค์/กล่อง

23 ม.ค. 2565 | 09:06 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ม.ค. 2565 | 07:15 น.

ผู้ประกอบการ-สหกรณ์ นมโรงเรียน ร้องระงม แฉสนั่น “เงินเยียวยาโควิด” 2,800 ล้าน “นมโรงเรียน” รอบ 2 มีเรียกเก็บหัวคิวเงิน กล่องละ 30 สตางค์ อ้างถ้าไม่ให้ จะไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา “นัยฤทธิ์” สกัด กลโกง เรียกเงิน ไม่ต้องจ่าย ใครอยู่ร่วมโครงการ ได้ทุกราย

แหล่งข่าวผู้ประกอบการ-สหกรณ์ นมโรงเรียน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค "โควิด-19" ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตอาหารนมไทย  เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมและแรงงานในอุตสาหกรรมโคนมกว่า 1.2 แสนราย ยอดขายผลิตภัณฑ์นมในตลาดลดลงประมาณร้อยละ 30  เกษตรกรจึงได้แก้ปัญหาเบื้องต้นโดยการนำน้ำนมดิบไปแปรรูปเป็นนมยูเอชที ด้วยการบรรจุในกล่องนมโรงเรียน 

 

แต่ก็ไม่สามารถนำออกขายได้ เพราะมีเกษตรกรและผู้ประกอบการในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนจำหน่ายอยู่แล้ว หรือ "นมโรงเรียน" ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม จะมีงบประมาณเยียวยาครั้งที่แล้ว ได้อนุมัติงบกลาง ประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 1,477 ล้านบาท แต่ครั้งนี้ยังไม่ทราบว่าจะได้งบประมาณเท่าไร แต่มีโรงงานบางรายขอเรียกเก็บหัวคิวต่อกล่อง ตั้งแต่ 15-30 สตางค์ แจ้งว่าถ้าไม่จ่ายจะไม่ได้เงินเยียวยาจากรัฐบาล

จากกรณีดังกล่าวนี้ ผู้สื่อข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” จึงได้สอบถามไปยัง นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด  กล่าวว่า หากจำกันได้ เดิมทางชุมนุมฯ ได้ทำหนังสือเรื่องขอเพิ่มวันให้กับเด็กดื่มนมโรงเรียน เป็น 365 วัน จากเดิม 260 วันนั้น ในโครงการ “นมโรงเรียน”  ทั้งหมด 5,700 ล้านบาท แต่เนื่องจากว่า สำนักงบประมาณ มีงบประมาณไม่เพียงพอ จึงได้มีมติให้ใช้งบกรอบวงเงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท 

 

นัยฤทธิ์ จำเล

 

 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  หรือ โควิด-19  ให้ผลิตเป็นนมกล่อง จึงขอเพิ่มเติมจากครั้งที่แล้ว ส่วนงบวงเงินงบประมาณก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่จะจัดสรรให้ใหม่ จึงได้เรียกชุมนุมมาหารือ เพราะต้นเรื่อง เกิดจากชุมนุมฯ ดังนั้นจึงมีการพูดคุยกัน แล้วก็มีแจ้งว่างบประมาณที่จะช่วยเหลือคาดว่าจะเป็นงบเยียวยา เช่นครั้งที่แล้ว น่าจะมีความเป็นไปได้ที่สุด

 

“สำหรับงบเยียวยา ได้มา 50 วัน งบประมาณ 2,800 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนกล่อง  2,737 ล้านกล่อง  เหลือเข้า ครม. เห็นชอบ  ยังขาดอีก 55 วัน แต่ถ้าได้ก็จะเต็ม 365 วัน แต่ก็ยังต้องลุ้น ว่าจะได้หรือไม่ แล้วคนที่จะเข้าโครงการนมที่ผลิตไว้ สต๊อกไว้ในโกดังที่ผลิตไว้แจกเด็กในเทอมนี้หรือเทอมหน้า เพราะกว่าจะผ่าน ครม. ก็ต้องใช้เวลา สำหรับนมที่มีอยู่ ณ วันนี้ นมที่เก็บไว้จะทันต่อการเยียวยาในระบบ

นายนัยฤทธิ์ กล่าวต่อว่า เงินที่ได้รับเยียวยา ครั้งที่แล้ว เกษตรกรที่ทำขาดทุน ครั้งที่ 2 จึงขอไปที่ 7.82 บาท/กล่อง เท่ากับราคากลางที่ขายนมโรงเรียน เงินเยียวยาก้อนนี้ ไม่ต้องสมัคร ได้ทุกคนที่อยู่ในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน คือนโยบายของรัฐบาล กรมปศุสัตว์ และทุกภาคส่วน เด็กจะต้องได้ดื่มนมเท่าเทียมกันทุกคน กล่าวคือ ผู้ประกอบการ/เด็ก จะได้เท่าเทียมกันทุกคน

 

“ไม่มีการเรียกเก็บหัวคิว หรือเงินใต้โต๊ะ หากมีต้องรีบแจ้งผมได้ทันที จะไปจัดการด่วน เนื่องจากนโยบายนมโรงรียน ยืนยันไม่มีเสียใต้โต๊ะ หรือเก็บหัวคิว และไม่มีค่าใช้จ่ายใดใดทั้งสิ้น  ชุมนุมฯ ไม่มีผลประโยชน์ และเป็นโครงการของชุมนุมฯ ไม่ได้เกี่ยวกับภาคเอกชน  ยืนยันว่า ไม่มีแน่นอน และคนอื่นจะไปแอบอ้างไม่ได้ เพราะเป็นโครงการของชุมนุม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ยันผู้ประกอบการนมโรงเรียนได้ทุกคน ถ้าใครให้ไปแล้ว ให้แจ้งมาที่ชุมนุมฯ จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ที่ทำให้ชุมนุมฯ เสียชื่อเสียงและภาพลักษณ์องค์กร ยันไม่มีเรียกเก็บเงิน ไม่ต้องสมัคร"