อ่วม! ของแพงขึ้นราคา 35-60% หมู เป็ด ไก่ ขยับรับตรุษจีน 45 กลุ่มอุตฯตรึงราคา

26 ม.ค. 2565 | 04:25 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2565 | 14:15 น.

ตรุษจีนร้อนฉ่า หมู เป็ด ไก่ ของไหว้เจ้า ดาหน้าปรับขึ้น 35-60% ผู้ค้าวอนรัฐบาลเร่งแก้ปัญหา หลังขายฝืด ผู้บริโภคลดซื้อ ส.อ.ท.ขอสมาชิก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมช่วยตรึงราคา ชี้อีก 6 เดือนต้นทุนยังพุ่งไม่หยุดยื่นพาณิชย์ขอปรับราคาแน่ กลุ่มอาหารแจงเป็นฉาก ๆ ต้นทุนขยับทุกด้าน

 

 ราคาสินค้าและบริการรับปี 2565 ยังปรับขึ้นต่อเนื่องซ้ำเติมภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคยุคที่ยังต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด โดยการปรับขึ้นมีทั้งเป็นไปตามต้นทุนของผู้ประกอบการที่สูงขึ้นจริง รวมถึงมีผู้ฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ ยิ่งเทศกาลตรุษจีนปีนี้สถานการณ์แม้ดูจะมีความคึกคักมากกว่าปีที่แล้ว แต่ยังต้องลุ้นว่าเม็ดเงินจะสะพัดมากกว่าปีที่ผ่านมาหรือไม่ (ข้อมูลศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทยประเมินการใช้จ่ายช่วงตรุษจีนทั้งประเทศปี 2564 ราว 4.49 หมื่นล้านบาท ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 13 ปี) จากการถูกซ้ำเติมด้วยราคาสินค้าไหว้เจ้าที่ปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นมาก

 

  • หมู ไก่ เป็ด ราคาแรง

ทั้งนี้จากการสำรวจราคาสินค้าย่านเยาวราชของ “ฐานเศรษฐกิจ” (ณ วันที่ 25 ม.ค. 2565) ก่อนเทศกาลตรุษจีนจะเริ่มต้นขึ้นปลายสัปดาห์นี้ พบราคาสินค้าที่ใช้ในการไหว้เจ้าอยู่ในระดับสูง อาทิ ไก่ต้มทั้งตัวเฉลี่ยที่ 480 บาท, เป็ดต้มทั้งตัว 400 บาท, หมูสามชั้นต้มสุก ชิ้นละ 200 บาท, ส้ม กิโลกรัม (กก.) ละ 80-100 บาท, ขนมเข่งคู่ละ 25-30 บาท, ขนมเทียนชิ้นละ 8-9 บาท และกระดาษเงินกระดาษทองชิ้นละ 20 บาท เป็นต้น

 

อ่วม! ของแพงขึ้นราคา 35-60% หมู เป็ด ไก่ ขยับรับตรุษจีน 45 กลุ่มอุตฯตรึงราคา

 

อย่างไรก็ดีจากการสอบถามผู้ค้าส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า มีโอกาสที่ราคาสินค้าข้างต้นจะปรับขึ้นอีกในช่วงตรุษจีนจากมีความต้องการหรือดีมานต์เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการหรือผู้ค้ามีต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น ราคาหมูสดเฉลี่ยที่ 230 บาทต่อ กก. เมื่อนำมาต้มจะหดตัว น้ำหนักหายไป และมีต้นทุนค่าขนส่ง ค่าก๊าซหุงต้ม และอื่น ๆ บวกเข้าไป เช่นเดียวกับไก่ที่ปีนี้ราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้คาดราคาสินค้าไก่ หมู เป็ด ส้ม รวมถึงขนมไว้เจ้าต่างๆ จะปรับตัวสูงขึ้นอีกในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้เฉลี่ย 35-60%

 

อ่วม! ของแพงขึ้นราคา 35-60% หมู เป็ด ไก่ ขยับรับตรุษจีน 45 กลุ่มอุตฯตรึงราคา

 

“เวลานี้มีคนไทยเชื้อสายจีนเริ่มซื้อหาของไหว้โดยเฉพาะของแห้งซึ่งปีนี้อาจจะยังไม่คึกคักมาก เพราะยังมีการแพร่ของโควิด และกำลังซื้อของประชาชนลดลง ขณะที่สินค้าราคาแพงขึ้นตามต้นทุนด้านต่าง ๆ ของผู้ประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนยังมีความระมัดระวังในการใช่จ่าย ซึ่งราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่แพงขึ้นในช่วงนี้ สร้างความกังวลให้ทั้งกับพ่อค้าแม่ค้าและผู้ซื้อเป็นอย่างมาก ลูกค้าที่มาซื้อของไหว้ก็ลดปริมาณการซื้อลง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย อยากให้ภาครัฐเร่งหาทางแก้ไขโดยด่วน”

 

  • 45 กลุ่มอุตฯตรึงราคา

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เรื่องราคาสินค้าแพงนี้ ทาง ส.อ.ท.ได้ขอความร่วมมือ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกช่วยตรึงราคาออกไปก่อนให้นานที่สุด ไม่ให้ซ้ำเติมผู้บริโภค แม้จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ ค่าขนส่งจากราคาน้ำมันตลาดโลก และราคาน้ำมันในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าแต่ละโรงงานผลิตมีสต๊อกวัตถุดิบที่ต่างกัน บางรายมีสต๊อกวัตถุดิบเก่าใช้ผลิตได้ 6 เดือน บางรายแค่ 2-3 เดือนที่ยังเป็นต้นทุนเดิม แต่หากหมดสต๊อกวัตถุดิบและต้องซื้อวัตถุดิบใหม่ในต้นทุนที่สูงขึ้น จนแบกภาระไม่ไหว ผู้ประกอบการแต่ละราย หรือแต่ละกลุ่มสินค้าคงต้องยื่นกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอปรับขึ้นราคาสินค้าเท่าที่จำเป็น

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

“ในสต๊อกวัตถุดิบและราคาสินค้าเก่า สมาชิกส่วนใหญ่คาดจะตรึงราคาได้นานสุด 5-6 เดือน แต่บางรายอาจไม่ถึง ตัวอย่างผู้ผลิตบะหมี่สำเร็จรูปซึ่งก็เป็นสมาชิกของเราก็ช่วยตรึงราคาออกไปก่อน ทั้งที่มีต้นทุนสูงขึ้นมาก บางคนก็ยอมขาดทุนกำไร หรือกำไรน้อยลง แต่ไม่อยากผลักภาระให้ผู้บริโภคในช่วงที่ยากลำบาก เศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อไม่เพิ่ม และเงินเฟ้อสูง ซึ่งราคาสินค้าแพง และเงินเฟ้อสูงจากราคาน้ำมันและราคาอาหารนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะเมืองไทย แต่ขณะนี้เกิดขึ้นกับทั่วโลก”

 

  • จี้เร่งลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

สำหรับการแก้ปัญหาน้ำมันแพง ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญด้านการขนส่ง ในข้อเท็จจริงอยากให้ภาครัฐปรับลดภาษีสรรพสามิตลง 3-4 บาทต่อลิตร แต่หากภาครัฐแบกภาระไม่ไหวอาจปรับลดลง 1-2 บาทต่อลิตรก็ยังดี ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการขนส่งได้ระดับหนึ่ง ส่วนการนำเข้าเนื้อหมู แก้ปัญหาขาดแคลนและราคาสูง หากมีความจำเป็นต้องนำเข้าขอให้มีการหารือกับเกษตรกรถึงความชัดเจนและข้อเท็จจริงเรื่องปริมาณที่ขาดแคลน และขอให้นำเข้าในช่วงเวลาที่เหมาะสมเป็นระยะสั้น ๆ เพื่อรอการฟื้นตัวของการเลี้ยงเพื่อเพิ่มปริมาณหมูให้กลับมาสู่จุดเดิมในรอบใหม่ที่คาดจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี

 

ด้าน นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า จากที่การเกิดโรค PRRS และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่มีส่วนสำคัญทำให้หมูตาย และหายจากระบบไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้หมูขาดแคลน และมีราคาแพงในเวลานี้ การฟื้นอาชีพเลี้ยงหมูโดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อยให้กลับคืนมานั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตราบใดที่ไทยยังไม่สามารถวิจัยและพัฒนาวัคซีคป้องกันโรค ASF ได้ ก็ยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรในการกลับมาเลี้ยงหมูในรอบใหม่

 

  • กลุ่มอาหารแจงแบกภาระอ่วม

นายวิศิษฐ์   ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. กล่าวว่า เวลานี้ผู้ผลิตสินค้าอาหาร และสินค้าอื่น ๆ มีต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ เมล็ดพันธ์ุ ปุ๋ย เหล็กทำกระป๋อง(ที่ปรับขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วถึงปีนี้ 100%) เม็ดพลาสติกที่ปรับขึ้นตามราคาน้ำมัน น้ำมันที่เป็นต้นทุนการขนส่ง การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น เรียกได้ว่าต้นทุนสูงขึ้นรอบด้าน โดยที่ยังให้ความร่วมมือภาครัฐช่วยตรึงราคาสินค้า เพื่อรอสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดีในรายที่สายป่านไม่ยาว เมื่อสต๊อกวัตถุดิบเก่าหมด จะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ผลิตสินค้าว่าจะสั่งสต๊อกวัตถุดิบล็อตใหม่หรือไม่ หากต้นทุนยังพุ่งไม่หยุด ซึ่งบางรายหากทำต้นทุนไม่ได้อาจลดการผลิต เลิกผลิต หรือหยุดไป การกลับมาทำใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

“เวลานี้ผู้ผลิตพยายามพยุงสุดตัวในการตรึงราคาสินค้าเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมาก แต่หากถึงจุดหนึ่งไม่สามารถแบกรับภาระไหว อาจมีบางรายล้มไป บางรายถ้าจะสู้ต่อก็ต้องปรับราคา หากสินค้าใดอยู่ในรายการสินค้าควบคุม (ปัจจุบันมี 56 รายการ) หากจะขึ้นราคาก็ต้องไปขอกับกระทรวงพาณิชย์ก่อน อยู่ดี ๆ จะขึ้นไม่ได้ ต้องมีเหตุผลและตัวเลขต้นทุนไปแสดง แต่ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาทางกระทรวงจะขอความร่วมมือตรึงราคาออกไป ขณะที่ยังมีกลไกตลาดอยู่ สภาพการแข่งขันยังมี รายที่ต้องการอยู่ในตลาดก็ยังไม่สามารถขึ้นราคาได้ หรือขึ้นได้น้อยมาก”

 

อ่วม! ของแพงขึ้นราคา 35-60% หมู เป็ด ไก่ ขยับรับตรุษจีน 45 กลุ่มอุตฯตรึงราคา

 

ผู้สื่อข่าวรายงานการสำรวจราคาสินค้าว่า นอกจากราคาเนื้อหมูที่อยู่ในระดับสูงในเวลานี้แล้ว ยังพบสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นหลายรายการราคาปรับตัวสูงขึ้น อาทิ น้ำมันพืช น้ำมันปาล์มขวด เครื่องปรุงรส กระดาษชำระ สบู่ ข้าวแกง ข้าวสาร อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี เป็นต้น บางสินค้าลดไซซ์ แต่ขายราคาเดิม เช่น น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยวบางแบรนด์ เป็นต้น

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3752 วันที่ 27 - 29 มกราคม 2565