ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้(Fruit Board เผยถึงผลดำเนินงานบริหารจัดการผลไม้ปี 2564 และปี 2565 ว่า ในปี 2564 ไทยสามารถส่งออกผลไม้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เฉพาะทุเรียนขายทะลุ 1 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรก แม้ต้องเผชิญปัญหาการขนส่งโลจิสติกส์จากค่าระวางที่สูงขึ้น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และการปิดด่านหลายครั้งจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ของจีน)
ความสำเร็จดังกล่าวมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งชาวสวนผลไม้ ผู้ประกอบการ ภาคเอกชนและภาครัฐที่ร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคในปีที่ผ่านมาและสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศชาติจากการส่งออกทำสถิตินิวไฮ โดย11 เดือน(ม.ค.-พ.ย.) ของปี 2564 การส่งออกผลไม้ 7 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ลิ้นจี่ และมะม่วง มีปริมาณ 1,992,751 ตัน คิดเป็นมูลค่า 165,624 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.75% เทียบกับปี 2563ที่ส่งออก1,718,228 ตัน มูลค่า 117,673 ล้านบาท
ทั้งนี้ในส่วนของทุเรียนส่งออก 903,700ตัน คิดเป็นปริมาณเพิ่มขึ้น 38.29% มูลค่า 115,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้น59.11% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ ส่งออก 653,476 ตัน มูลค่า 72,566 ล้านบาท ขณะที่ฤดูกาลผลิตปี 2565 คาดจะมีผลผลิตทุเรียนออกมา 5.20 ล้านตัน เพิ่ม 11.39% หรือเพิ่มกว่า 5 แสนตัน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีปริมาณผลผลิต4.66 ล้านตัน (ตัวเลขจากกรมศุลกากร)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวอีกว่า เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลไม้ที่จะเริ่มต้นฤดูในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ได้มอบนโยบายให้ฟรุ้ทบอร์ดกำหนดมาตรการล่วงหน้า โดยมอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ กล่าวว่า คณะทำงานฯได้กำหนด 5 มาตรการ 21โครงการสำหรับบริหารผลไม้ในภาวะวิกฤติเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการจัดทำแผนและโครงการต่าง ๆ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ได้จัดการประชุมทางไกลกับสมาคมทุเรียนไทย ตัวแทนแปลงใหญ่ทุเรียนจังหวัดระยอง สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียน สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย สถาบันทุเรียนไทย หอการค้าจังหวัดจันทบุรี สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ ตัวแทนเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคตะวันออก นายชรัตน์ เนรัญชรและนายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ.ระยอง สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ทั้งนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมรองรับผลไม้ภาคตะวันออกโดยมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างมาก เช่นข้อเสนอให้เร่งจัดทำมาตรฐาน Zero Covid ทุเรียนที่มีงานวิจัยรองรับโดยกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ชัดเจนและสื่อสารกับจีนเพื่อสร้างความมั่นใจกับจีนและประเทศลูกค้าอื่น ๆ การใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability)
การหารือกับจีนในการขนส่งบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาวโดยการปิดตู้ที่ประเทศลาว และ ส่งไปคุนหมิงเลยโดยไม่ต้องแวะตรวจที่ด่านโมฮ่านเพื่อให้สามารถส่งทุเรียนและผลไม้เศรษฐกิจอื่น ๆทางรางได้ตั้งแต่เดือน มีนาคมปีนี้ ตลอดจนข้อเสนอให้ประชุมหารือกับประเทศจีน ลาวและเวียดนามเพื่อตกลงมาตรการร่วมกันเรื่อง protocol ในการเปิด-ปิดด่านชายแดนต่าง ๆ รวมทั้งข้อเสนอให้ด่านมี Green Lane สำหรับผลไม้ไทยเป็นการเฉพาะรวมทั้งปัญหาการทำ GAP ที่ชาวสวนต้องจ่ายมากขึ้นว่าจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไรเมื่อใดรวมทั้งข้อพิจารณาเรื่องการเยียวยาชาวสวนลำไยในฤดูกาลที่ผ่านมา
“ได้รายงานให้รัฐมนตรีเกษตรฯในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ดทราบถึงข้อเสนอดังกล่าวเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปโดยเร็ว นอกจากนี้ผมจะนำคณะเดินทางไปหนองคายและอุดรธานีเพื่อหารือกับผู้ประกอบการ 3 ประเทศไทย-จีน-ลาว เรื่องการขนส่งสินค้าเกษตรของไทยบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาวในวันที่ 27 มกราคม"นายอลงกรณ์ กล่าว
สำหรับความคืบหน้าในเรื่อง GMP นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการ สวพ.6 ได้รายงานในที่ประชุมว่าปัจจุบันได้มีการอบรม มาตรฐาน GMP plus ให้กับโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง)ไปแล้วกว่า 400 แห่ง และ ดำเนินการป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อนอย่างจริงจังเพื่อยกระดับคุณภาพของทุเรียนในปีนี้