ฟรุตต้า ไบโอเมด ผุด รง. ผลิตเตาปฏิกรณ์ชีวภาพที่แรกในไทย รับอุตฯยา-วัคซีน

27 ม.ค. 2565 | 14:25 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2565 | 21:29 น.

ฟรุตต้า ไบโอเมด ผุดโรงงานผลิตเตาปฏิกรณ์ชีวภาพแห่งแรกในไทย รับอุตสาหกรรมยาและวัคซีน ส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศบนเวทีโลกพร้อมเทียบชั้นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในระดับนานาชาติ

นายรักชัย เร่งสมบูรณ์ ผู้ก่อตั้งและผู้นำทีมวิศวกรรม บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทจะดำเนินการร่วมกับผู้ผลิตที่เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ สร้างโรงงานผลิตเตาปฏิกรณ์ชีวภาพ (Bioreactor) แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองและการแข่งขันในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพและยาชีววัตถุของไทย 

 

 

 

ทั้งนี้ ต้องถือว่าเป็นโรงงานผลิตเครื่องจักรเพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุแห่งแรกของประเทศไทย โดยวัคซีน ยาชีววัตถุ เป็นผลิตภัณฑ์ตัวยาที่สำคัญที่ผลิตหรือได้มาจากสิ่งมีชีวิต เช่น อินซูลิน ฮอร์โมน ยาที่ลดการใช้เคมี เป็นต้น

 

 

ซึ่งนำมาใช้แพร่หลายทั้งในคนและสัตว์ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยาชีววัตถุซึ่งเป็นกลุ่มยาที่มีคุณภาพสูง 
 

ที่ผ่านมาประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งตัวยา เครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิต ดังนั้นหากประเทศไทยต้องการมีบทบาทและเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเอง

 

 

และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาปัจจัยการผลิต พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต รวมถึงการสร้างโรงงานผลิตหรือผลิตเครื่องจักรบางประเภทเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก

 

 

 

ขณะที่ความน่าสนใจในอุตสาหกรรม Bioreactor พบว่าในตลาดโลก ณ ปี 2020 มีขนาดมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ประมาณ 5,400 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 178,200 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 16.7% โดยเป็นการเติบโตจากการนำไปใช้ผลิตวัคซีนมากถึง 47%

 

 

ซึ่งโรงงานผู้ผลิต Bioreactor ในโลกนับว่ามีจำนวนน้อยรายเมื่อเทียบกับความต้องการ ส่งผลให้กำลังการผลิตในการส่งมอบไม่เพียงพอเพราะต้องใช้ความละเอียดแม่นยำสูง 
 

ด้านผู้เชี่ยวชาญ และการคาดการจาก Global Market Insights เผยถึงสถานการณ์ว่าภายในปี 2027 ขนาดตลาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 200% หรือเทียบขนาดอุตสาหกรรมอยู่ที่ 16,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 541,200 ล้านบาท เนื่องจากเตาปฏิกรณ์ชีวภาพ (Bioreactor) ไม่เพียงแต่ใช้ในอุตสาหกรรมยาเท่านั้น

 

 

หมายรวมไปถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพอื่นๆ เช่น ส่วนผสมอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง พลาสติกชีวภาพ วัสดุชีวภาพ สารเคมีชีวภาพ การเพาะเลี้ยงเนื้อจากสเต็มเซลล์ เป็นต้น

 

 

 

นายรักชัย กล่าวต่อไปอีกว่า หัวใจของกระบวนการผลิตจำเป็นต้องมีเครื่องจักรที่เรียกว่า เตาปฏิกรณ์ชีวภาพ ซึ่งเป็นที่เพาะเลี้ยงเซลล์ขนาดใหญ่ จำลองสภาวะการเลี้ยงเซลล์ในแต่ละรูปแบบ

 

 

รักชัย เร่งสมบูรณ์ ผู้ก่อตั้งและผู้นำทีมวิศวกรรม บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด

 

 

โดยกำหนดสภาวะในการ Metabolism ด้วยกลไกที่สร้างสภาวะการเติบโตของสิ่งมีชีวิตแบบจำลองที่ครบครันทั้งอาหาร อากาศ ความดัน การปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการควบคุมอย่างแม่นยำในระดับ Real Time ผ่าน Automation Computer และ Mechatronics 

 

 

 

รวมถึงต้องเก็บความเคลื่อนไหวพลอตออกมาเป็นกราฟ ติดตามตลอดช่วงชีวิตของการเลี้ยง นอกจากนี้ในกระบวนการอื่นๆของการผลิตวัคซีน ทั้งการส่งต่อ  การเก็บเกี่ยวเซลล์หรือสารที่ต้องการ (Harvesting) การแยก (Segregation) การทำให้บริสุทธิ์ (Purification) ต้องมีเครื่องจักรที่มีกลไกความแม่นยำสูงระดับนาโนสเกล

 

 

 

จึงต้องใช้ทั้งความเชี่ยวชาญและเครื่องจักรคุณภาพสูง เป็นที่มาที่เราต่อยอดเพื่อผลิตเตาปฏิกรณ์ชีวภาพไว้ใช้เองจากองค์ความรู้และในอนาคตตามแผนงานจะผลิตป้อนสู่ตลาดต่อไป 


นอกจากนี้ ฟรุตต้าไบโอ ลิมิเตด (Fruita Bio Limited) บริษัทแม่ ของ บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่กำลังยื่นไฟลิ่งเพื่อเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อเมริกา (โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดขาย IPO ประมาณเมษายนนี้) ได้จัดตั้งบริษัทในกลุ่ม Biologic Machinery

 

 

โดยร่วมทุนกับบริษัทข้ามชาติที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องจักรสำหรับไลน์การผลิตยาวัคซีน ยาชีววัตถุ ตั้งโรงงานผลิตเครื่องจักรในประเทศไทย ในพื้นที่ Fruita BioPark 75 ไร่ จังหวัดปทุมธานี ด้วยทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 200 ล้านบาท 

 

 

 

ตามแผนงานตั้งเป้าผลิตเตาปฏิกรณ์ชีวภาพ เพื่อนำมาใช้กับบริษัทในเครือเป็นหลักรองรับการผลิต Biopolymer ประเภท PHA ในส่วนผสมอาหาร เครื่องสำอาง เครื่องสกัดสารสกัดกัญชา Synbio สังเคราะห์ CBD ซึ่งจะเป็นกลุ่มบริษัทที่ใช้ Bioreactor ปริมาณมากเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน และพัฒนาไปสู่การสร้างไลน์ผลิตวัคซีน ฮอร์โมน ยา Biosimilar Drugs ต่อไป 

 

 

บริษัทฯอยู่ในระหว่างการเร่งดำเนินการให้เครื่องจักรและไลน์ผลิตได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับนานาชาติให้ครบถ้วน ทั้งจาก US FDA (องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา) หน่วยงานรับรองมาตรฐานระดับโลก เช่น SGS,BV รวมถึงองค์การอาหารและยา (อย.) ของไทย