รถไฟจีน-ลาว เพิ่มโอกาสผลไม้ไทย สู่แดนมังกรฉลุย

30 ม.ค. 2565 | 02:56 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ม.ค. 2565 | 10:35 น.

ไทย-จีน เดืนหน้าทดสอบขนส่งสินค้า ผ่านขบวนรถไฟจีน-ลาวคึกคัก ล่าสุดไทยทดลองส่งข้าวเหนียว 500 ตัน ผ่านด่านโมฮ่าน มุ่งหน้านครฉงชิ่ง เร่งสางระเบียบพิธีการขนส่ง หวังทันรับฤดูผลไม้เขตร้อนของไทยที่จะเริ่มออกตลาดพ.ค.นี้ ชี้ต้องใช้เวลาครึ่งปีกว่าเข้าที่

โอกาสสดใสขึ้นเป็นลำดับสำหรับการค้าไทย-สปป.ลาว และจีน หลังโครงการรถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการแล้ว ตั้ง แต่ 3 ธ.ค. 2564 ล่าสุดเมื่อ 26 ม.ค. 2565 รถขนส่งสินค้าไทยขบวนปฐมฤกษ์ จากสถานีเวียงจันทน์ใต้ เดินทางบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว เข้าจีนที่ด่านรถไฟโมฮ่านตอนใต้ของมณฑลยูนนาน สู่มหานครฉงชิ่งทางภาคตะวันตกของจีน โดยสินค้าเกษตรล็อตแรกเป็นข้าวเหนียวหัก 20 ตู้ นํ้าหนัก 500 ตัน จากบริษัทกล้าทิพย์ ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน เร็วกว่าขนส่งทางเรือถึง 4 เท่าตัว

 

เช่นกัน ทางฝั่งจีนก็เริ่มเดินรถไฟขนส่ง นำสินค้าจากจีนตามเส้นทางนี้ เพื่อเข้ามายังสปป.ลาว และบางส่วนส่งต่อเข้าตลาดประเทศไทย เพื่อทดสอบระบบและขั้นตอนด้านพิธีการศุลกากรต่างๆ ตามเส้นทาง 

รถไฟจีน-ลาว เพิ่มโอกาสผลไม้ไทย สู่แดนมังกรฉลุย

อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะทำงานจัดทำแผนแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ หมายมั่นปั้นมืออย่างสูงว่า ทางรถไฟจีน-ลาวนี้ คือโอกาสและทางเลือกใหม่ของการส่งออกผลไม้ไทยเข้าตลาดจีนที่มีศักยภาพ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาผลผลิตผลไม้ไทยในอนาคต

 

รวมทั้งจะเร่งหารือเอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศไทย เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทย-ลาว เรื่องการขนส่งสินค้าผ่านแดนจากไทยไปจีนบนเส้นทางรถไฟสายจีน-ลาว เพื่อความพร้อมสำหรับการขนส่งสินค้าเกษตรอื่นๆ โดยเฉพาะผลไม้ที่ใกล้จะถึงฤดูกาลผลิตปี 2565 เริ่มตั้งแต่มีนาคมนี้ และเตรียมประชุมทางไกลกับสมาคมผลไม้ และสมาคมล้งกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันออก ต่อไปด้วย

รถไฟจีน-ลาว เพิ่มโอกาสผลไม้ไทย สู่แดนมังกรฉลุย

รถไฟจีน-ลาว เพิ่มโอกาสผลไม้ไทย สู่แดนมังกรฉลุย

ขณะที่ผลตอบรับนับแต่เปิดเดินรถไฟจีน-ลาว พบว่าสถิติการส่งออกสินค้าผ่านด่านหนองคาย ในเดือนธันวาคม 2564 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้าเติบโตขึ้น โดยมีปริมาณขนส่งเพิ่มขึ้นจาก 116,552 ตัน เป็น 304,119 ตัน มีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น จาก 4.64 พันล้านบาท เป็น 6.91 พันล้านบาท รฟท.เพิ่มการเดินรถไฟสถานีหนองคาย จาก 4 ขบวนต่อวัน เป็น 14 ขบวนต่อวัน ขบวนรถสินค้าจาก 12 แคร่ เป็น 25 แคร่ มีศักยภาพเพิ่มขึ้นประมาณ 8 เท่า

 

“ศุทธาภา นพวิญญูวงศ์ สิรีธร จารุธัญลักษณ์ และ อภิชญาณ์ จึงตระกูล” จากสำนักเศรษฐกิจภูมิภาคฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วิจัยเรื่อง คว้าโอกาสให้การค้าไทย จากรถไฟจีน-ลาวชี้ว่า เบื้องต้นไทยจะเผชิญกับความท้าทายของสินค้านำเข้าจากจีน ที่จะมากกว่าสินค้าจากไทย ทั้งกลุ่มสินค้าวัตถุดิบ ผลผลิตการเกษตร หรือสินค้ากลุ่มอี-คอมเมิร์ซ 

 

แต่ในทางกลับกันไทยก็มีโอกาสในการขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดมายังมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นปลายทางรถไฟ จากเดิมที่สินค้าไทยส่วนใหญ่จะนิยมขนส่งไปทางจีนตะวันออก ผ่านเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางถนน รวมถึงมณฑลกวางตุ้งและอื่นๆ ทางเรือ

รถไฟจีน-ลาว เพิ่มโอกาสผลไม้ไทย สู่แดนมังกรฉลุย

จากการวิเคราะห์ความต้องการสินค้าของจีน และศักยภาพการส่งออกสินค้าของไทย 
    

1. กลุ่มแชมป์เปี้ยนส์ ได้แก่ผลไม้ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบรถยนต์ ทองแดงและผลิตภัณฑ์และเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภค รวมทั้งอาหารทะเล ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มที่ตลาดมีความต้องการ และส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ย
    

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ ซึ่งมีอัตราการเติบโตถึง 42% (ปี 2563 เทียบปี 2561) เนื่องจากเดิมจีนมีการนำเข้าจากไทยอยู่แล้ว อีกทั้งด่านหนองคายได้รับอนุมัติเป็นด่านที่อยู่ในพิธีสารการส่งออกและนำเข้าผลไม้ทางบกของจีนเพิ่มเมื่อ ก.ย. 2564 ทำให้ต่อไปไทยจะสามารถส่งออกผลไม้สดผ่านด่านหนองคายได้สะดวกมากขึ้น
    

อีกกลุ่มที่โดดเด่นคือ กลุ่มเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภค เดิมมีการนำเข้าเนื้อไก่แช่แข็งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งโอกาสของตลาดสินค้ากลุ่มนี้ และสามารถขยายประเภทสินค้าไปยังเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่ไทยมีศักยภาพ เช่น เนื้อโคและอาหารทะเล เนื่องจากมณฑลของจีนด้านตะวันตกมีประชากรชาวมุสลิมจำนวนมาก อีกทั้งไม่มีเขตติดทะเลและค่อนข้างห่างไกล ทำให้ต้องซื้ออาหารทะเลในราคาที่สูง
    

2. กลุ่มที่พัฒนาได้ เช่น เครื่อง จักรกล ผลิตภัณฑ์ธัญพืช อาหารปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ (อาทิ กะทิสำเร็จรูป ซอสปรุงรส) นํ้าตาลและผลิตภัณฑ์จากนํ้าตาล เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง แต่ส่วนแบ่งของตลาดของสินค้าไทยลดลง 
    

หากไทยสามารถเพิ่มช่องทาง การขายสินค้ากลุ่มนี้ อาทิ อาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องหอม เครื่องสำอางไปเป็นสินค้าอี-คอมเมิร์ซ ข้ามพรมแดน (CBEC) จะทำให้สินค้ามีศักยภาพมากขึ้น และสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ในอนาคต เนื่องจากทางการจีนมีการส่งเสริมการค้าผ่านช่องทางนี้ 
    

คณะผู้วิจัยชี้ว่า การขนส่งสินค้าในช่วงแรกยังไม่สามารถดำเนินการได้สะดวก เนื่องจากยังมีการปิดพรมแดน ทั้งสปป.ลาว และจีน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งปัจจัยต่างๆ ได้แก่

 

1. โครงสร้างพื้นฐานใน สปป. ลาว อาทิ Vientiane Logistics Park (VLP) ซึ่งเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าในสปป. ลาว และด่านรถไฟโมฮ่านในจีนที่ยังดำเนินการได้ไม่สมบูรณ์
    

2. มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของจีน เช่น ความเข้มงวดด้านการนำเข้าสินค้าของจีน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโคโรน่าไวรัส โดยเฉพาะอาหารสดและผลไม้ และ 
    

3. มาตรการกีดกันทางการค้าด้านภาษีศุลกากร อาทิ ระเบียบพิธีการด้านการขนส่งทั้งใน สปป.ลาว และจีน
    

อย่างไรก็ดี ข้อตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 1 ม.ค. 2565 จะมีส่วนช่วยบรรเทาข้อจำกัดด้านภาษีศุลกากรได้บ้าง และควรมีการหารือเรื่องการขนส่งร่วมกันระหว่าง สปป. ลาว และจีนเพิ่มเติม เพื่อให้การขน ส่งไปจีนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น 
    

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ใน สปป.ลาว คาดว่าการขนส่งสินค้าจะสะดวกมากขึ้นในช่วงกลางปีนี้ (มิ.ย. 2565) เป็นต้นไป ระหว่างนี้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs อาจเจอข้อจำกัดหลายด้านในการส่งออกสินค้าไปจีน ที่ทำให้ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายนี้ 

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,753 วันที่ 30 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565