เอกชนติวเข้มรัฐ รับมือศก.ไทย-โลกผันผวน แนะเตรียมกระสุนอีก 5 แสนล้าน

04 ก.พ. 2565 | 04:15 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2565 | 11:21 น.

เอกชนแนะรัฐรับมือปัจจัยเสี่ยงทั้งในและต่างประทศ สะเทือนเศรษฐกิจไทยผันผวน ทั้งเงินเฟ้อ ของแพง ค่าครองชีพพุ่ง จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ย 3-4 รอบ บีบไทยขึ้นดอกเบี้ยตามกันทุนไหลออก ดันบาทแข็งกระทบส่งออก สภาอุตฯจี้เตรียมกระสุนกระตุ้นศก.รอบใหม่อย่างต่ำ 5 แสนล้าน

 

ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คาดเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 4% (จากปี 2564 คาดขยายตัว 1.2%) ผลจากภาคการส่งออกยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง การใช้จ่ายในประเทศขยายตัวหลังคุมโควิดอยู่ในวงจำกัด การท่องเที่ยว การลงทุน และการบริโภคภาคเอกชนจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น ในมุมเอกชนมองเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเปราะบางและมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องรับมืออีกมาก

 

เอกชนติวเข้มรัฐ รับมือศก.ไทย-โลกผันผวน แนะเตรียมกระสุนอีก 5 แสนล้าน

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประชาชนและภาคธุรกิจเวลานี้ยังต้องเผชิญราคาสินค้าและบริการแพง โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ราคาสินค้าอาหาร และวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลค่าครองชีพ และเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นตาม อัตราเงินเฟ้อไทยปีนี้อาจจะขึ้นไปถึง 3% (ขึ้นกับราคาน้ำมัน) สูงสุดในรอบ 10 ปี โดยเวลานี้หลายประเทศทั่วโลกมีอัตราเงินเฟ้อเงินที่สูงขึ้น เช่น สหรัฐฯอัตราเงินเฟ้อ เดือนธ.ค.2564 พุ่งถึง 7% สูงสุดในรอบ 40 ปี และอังกฤษเงินเฟ้อเดือน พ.ย. 2564 เพิ่มขึ้น 5.1% สูงสุดรอบ 10 ปี

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

“ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเวลานี้อยู่ที่ 88 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ( 1 ก.พ.) ซึ่งโกลด์แมนแซคส์ วานิชธนกิจชั้นนำของสหรัฐอเมริกา คาดน้ำมันดิบตลาดโลกปีนี้จะพุ่งทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล สูงสุดรอบ 7 ปี โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนอกจากผลจากราคาน้ำมันแพงแล้ว ในส่วนของสหรัฐฯเงินเฟ้อส่วนหนึ่งผลจากสงครามการค้ากับจีน ทำให้สหรัฐฯต้องนำเข้าสินค้าจากจีนในราคาที่สูงขึ้น จากถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น”

 

จากเงินเฟ้อในสหรัฐฯที่สูง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3-4 ครั้งในปีนี้ หากขึ้นดอกเบี้ยจริงจะส่งผลให้เงินที่ลงทุนในตลาดทุน เช่น ตลาดหุ้น ตราสารหนี้ และอื่น ๆ ไหลกลับสหรัฐฯจากจะได้ผลตอบแทนมากกว่า และจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า สวนทางเงินบาทจะอ่อนค่าลง ซึ่งหากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อป้องกันเงินทุนไหลออก (ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 0.50% ต่อปี) จะส่งผลให้บาทแข็งค่า จะกระทบภาคการส่งออก ซึ่งคงต้องพิจารณาให้ดี

 

 “ขณะนี้รัฐบาลเหลือเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ อีกกว่า 1 แสนล้านบาทเพื่อใช้เยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแล้วอาจไม่เพียงพอ ถ้าจะให้ดีรัฐบาลน่าจะเตรียมไว้อีกอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท แต่ถ้าไม่มีและเป็นภาระที่หนักเกินไปก็ควรจะเพิ่มอีกซัก 5 แสนล้านบาท

 

สุพันธุ์  มงคลสุธี

 

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ได้แก่ โรคโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดขึ้น และรุนแรงขึ้นหากคุมไม่อยู่ ภาวะเงินเฟ้อ สินค้าแพง น้ำมันแพง กระทบทุกภาคส่วน ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวโดยเร็ว ช่วยเพิ่มกำลังซื้อ เพิ่มการจ้างงานของภาคธุรกิจ ซึ่งเมื่อสินค้าขายดีขึ้น และประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่ม แม้ราคาสินค้าจะเพิ่ม เงินเฟ้อเพิ่ม หรือหากมีการปรับค่าจ้างแรงงงานเพิ่มก็ไม่น่ากังวลมาก อย่างไรก็ดีข้อกังวลสหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่จะกระทบต่อความสามารถในการส่งออกของไทย หากไทยปรับขึ้นดอกเบี้ยตามและมีผลให้เงินบาทแข็งค่า เรื่องนี้ส่วนตัวมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของไทยคงเป็นไปได้ยากในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ เพราะหากขึ้นจะไปเพิ่มภาระเงินกู้ของภาคธุรกิจและประชาชน

 

สนั่น  อังอุบลกุล

 

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความท้าทายเศรษฐกิจไทยปีนี้ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เราต้องอยู่กับมันให้ได้ เศรษฐกิจต้องเดินหน้าต่อไป สิ่งที่น่าห่วงคือราคาสินค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น กระทบต่อประชาชน ทั้งนี้มองว่าปัญหา/อุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ ที่รัฐบาลต้องดูแลและเร่งแก้ไข ได้แก่ สถานการณ์โควิด สินค้าแพง ดึงการท่องเที่ยวเพิ่ม โดยผ่อนคลายมาตรการเข้า-ออกประเทศ มีมาตรการเสริมเพื่อเพิ่มกำลังซื้อประชาชน รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงที่เป็นปัญหาระยะยาว

 

หน้า 2 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3754 วันที่ 3 – 5 กุมภาพันธ์ 2565