วันที่ 29 ม.ค. 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพอใจกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2564 และปี 2565 ที่รายงานโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปี 2564 คาดจะขยายตัวได้ที่ 1.2% (จากปี 2563 ติดลบ 6.1%) และปี 2565 คาดจะขยายตัวได้ที่ 4%
สำหรับปัจจัยสนับสนุนจีดีพีไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ที่ 4% มาจากการบริโภคของภาคเอกชนปีนี้จะขยายตัวได้ 4.5% การบริโภคภาครัฐจะขยายตัวได้ 1.2% ภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาขยายตัวหลังเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านระบบ Test & Go อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.นี้เป็นต้นไป โดยคาดจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยปีนี้ 7 ล้านคน ส่วนภาคการส่งออกคาดจะขยายตัวได้ 3.6% ตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง
นอกจากนี้มีงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐประจำปี 2565 วงเงิน 3.01 ล้านล้านบาท งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2565 วงเงินอีก 3.07 แสนล้านบาท รวมถึงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ยังมีเม็ดเงินเหลืออยู่อีก ประมาณ 1 แสนล้านบาท จะเป็นกระสุนที่ยังเบิกจ่ายในกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผล กระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างต่อเนื่อง
อีก 1 เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ การลงทุนของภาคเอกชนทั้งในประเทศและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดปี 2564 ที่ผ่านมาจะมีคำขอรับการส่งเสริมมากกว่า 6 แสนล้านบาท (รอแถลงตัว เลข ก.พ.นี้) ขณะที่ภาคเอกชนคาดในปี 2565 จะมีการขอรับการส่งเสริมไม่ตํ่ากว่า 7 แสนล้านบาท และโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมไปลงแล้วจะมีการเริ่มลงทุนจริงหลายแสนล้านบาทตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก และการเปิดประเทศทั่วโลกทำให้การเดินทางติดต่อธุรกิจมีความสะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ดีแม้จะมีปัจจัยบวกข้างต้น แต่ก็ยังมีอีกหลากหลายปัจจัยเสี่ยงทั้งปัจจัยจากในประเทศ และจากต่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อ 4 เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งการส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว และการบริโภคของภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนที่อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
โดยผู้นำภาคเอกชน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยให้มุมมองว่า หากไม่เกิดปัญหาการกลายพันธุ์ของเชื้อโอมิครอนจนส่งผลกระทบรุนแรง เศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่ง ณ เดือนม.ค. 2565 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ได้ประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ในกรอบ 3-4.5% ส่งออกขยายตัวได้ 3-5% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 1.2-2.0%
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าห่วงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเวลานี้คือราคาสินค้า ต้นทุนพลังงาน และวัตถุดิบต่างๆ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จะกระทบกับกำลังซื้อและค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งคงต้องจับตาดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเพื่อการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีอะไรออกมาอีก และจะเป็นยาแรงพอหรือไม่
เช่นเดียวกับนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ที่ระบุว่าระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นอาจจะฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เพราะจะเป็นแรงกดดันต่อกำลังซื้อในประเทศขณะที่ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มาตรการลดค่าครองชีพประชาชนทั้งคนละครึ่งในเฟส 4 ช้อปดีมีคืนจะช่วยประคองกำลังซื้อได้ระดับหนึ่ง ดังนั้นมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องออกมาตรการเพิ่มเติม รวมถึงการดูแลสภาพคล่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
จากภาพรวมพลังบวกข้างต้นรวมถึงความเห็นของผู้นำภาคเอกชนชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะกลับมาขยายตัวได้ดีกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เพราะอีก 3 เครื่องยนต์หลักที่เครื่องสะดุดในปี 2564 ทั้งการบริโภคของภาครัฐและเอกชน การลงทุนของภาครัฐและเอกชน การท่องเที่ยว เครื่องเริ่มสตาร์ทติด ซึ่งหากไม่มีสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่น เกิดโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงจนทั่วโลกต้องกลับมาล็อกดาวน์ประเทศทำเศรษฐกิจการค้า การลงทุนโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง ทิศทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกปี 2565 จะขยายตัวได้ดีกว่าปีที่แล้วอย่างแน่นอน
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3754 วันที่ 3 - 5 กุมภาพันธ์ 2565