นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทาง สรท. คาดการณ์ส่งออกไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ที่ 5-8% มีปัจจัยบวกสำคัญจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักอาทิ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่นฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีอุปสงค์หรือความต้องการสินค้ายังทรงตัวในระดับสูง ค่าเงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่า จากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” และการลดปริมาณเงินในมาตรการ QE Tapering และแผนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3-4 ครั้งของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ในปี 2565
ฟื้นสัมพันธ์ซาอุฯตัวช่วย
นอกจากนี้จากที่ไทยได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียในรอบกว่า 30 ปี จะช่วยเพิ่มโอกาสการค้าการลงทุนระหว่างกัน ล่าสุดทาง สรท. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในการขยายการส่งออกไทยไปซาอุฯ โดยจะนำหารือ และร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.) กระทรวงพาณิชย์ และทูตพาณิชย์ไทยในตะวันออกกลาง แผนงานส่วนหนึ่ง อาทิ การจัดคณะผู้แทนการค้า (เทรดมิชชั่น)เยือนซาอุฯในเร็วๆ นี้ โดยอาจมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือทูตพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะ แอ็กชั่นแพลนนี้จะแล้วเสร็จในสัปดาห์หน้า
“ผู้ส่งออกคุยกันมีหลายอุตสาหกรรมที่คาดจะได้รับผลบวกทางการค้า จากการฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุฯในครั้งนี้ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า ข้าว อาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งออกไทยไปซาอุฯอยู่ที่ระดับ 1,600 -1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากย้อนหลังไป 10 ปี อยู่ที่ระดับ 2,300-25,00 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ซึ่งจากผลพวงซาอุฯลดระดับความสัมพันธ์ก่อนหน้านี้ ทำให้การขอวีซ่าเข้าซาอุฯยาก โดยต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงต่างประเทศของซาอุฯก่อน ประกอบกับโควิดระบาด ทำให้นักธุรกิจเดินทางได้ลำบากขึ้น ค่าใช้จ่ายเรื่องการขอวีซ่าก็แพงมาก ทำให้เราเสียเปรียบประเทศอื่น ทั้งที่ซาอุฯ รู้จักคนไทย และสินค้าไทยเป็นอย่างดี”
มั่นใจ1.5 แสนล้านใน 3 ปี
อย่างไรก็ดี จากการส่งออกไทยไปซาอุฯ ปี 2532 ที่มีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาท หลังการฟื้นความสัมพันธ์ และมีการบุกตลาดอย่างจริงจัง คาดจะสามารถผลักดันตัวเลขกลับไปสู่จุดเดิม ที่ 1.5 แสนล้านบาท ได้ไม่เกิน 3 ปี จากมีความต้องการของตลาดอยู่แล้ว และจากที่นักธุรกิจเดินทางไปมาหาสู่กันได้สะดวกขึ้น ขณะที่ในปี 2565 นี้ หลังไทยมีแผนงานและเจาะตลาดซาอุฯได้มากขึ้น คาดทั้งปีนี้ไทยจะส่งออกไปซาอุได้ 2,000-2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 6.60-7.26 หมื่นล้านบาท จากปี 2564 ไทยส่งออกไปซาอุฯ 5.1 หมื่นล้านบาท)
ท่องเที่ยว-แรงงาน-ลงทุนเฮ
นอกจากภาคส่งออกที่จะได้อานิสงส์จากการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯในครั้งนี้แล้ว นายชัยชาญระบุว่ายังมีภาคส่วนอื่น ๆ ที่จะได้รับอานิสงส์ด้วย เช่น ภาคท่องเที่ยว การตรวจสุขภาพและการรักษาพยาบาล การบริการด้านการแพทย์ ภาคแรงงานไทยทั้งแรงงานฝีมือ และแรงงานภาคบริการ จากเวลานี้ชาวซาอุฯรุ่นใหม่เปิดรับมากขึ้นในเรื่องสถานบันเทิง หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทำให้มีความต้องการแรงงานภาคบริการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น
ส่วนด้านการลงทุน ไทยมีโอกาสร่วมลงทุนกับซาอุฯด้านผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และผล พลอยได้ เช่น เม็ดพลาสติก จากซาอุฯ มีแหล่งน้ำมันดิบอันดับต้นๆ ของโลก ขณะที่ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเม็ดพลาสติกของภูมิภาค หากมีการร่วมทุนกันจะช่วยลดต้นทุนและช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันสินค้าเม็ดพลาสติกของไทยได้มากขึ้น รวมถึงไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านปิโตรเคมีของภูมิภาคนี้ได้
น้ำมันดิบไม่เกิน 100 ดอลล์
นายชัยชาญ ยังให้ความเห็นถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นระดับมากกว่า 90 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในเวลานี้ และส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศปรับตัวสูงขึ้น กระทบต้นทุนการขนส่งในการส่งออกสินค้า และต้นทุนวัตถุดิบและราคาสินค้าส่งออกและสินค้าในประเทศปรับตัวสูงขึ้นว่า ส่วนตัวมองราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปีนี้เฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 75-90 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เพราะหากราคาน้ำมันดิบสูงเกินไปเชื่อว่าสหรัฐฯ จะนำเชลออยล์ (Shale oil) เข้าสู่ตลาดมากขึ้นเพื่อคานราคาน้ำมันดิบให้ต่ำลง รวมถึงหลาย ๆ ประเทศที่มีน้ำมันสำรองจะนำออกมาเทขายมากขึ้น
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3755 วันที่ 6 – 9 กุมภาพันธ์ 2565