นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยถึง สถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ว่ากำลังพุ่งสูงขึ้นอีก ขณะที่อาหารสัตว์และสินค้าหลายรายการถูกตรึงราคา โดยราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ วันนี้ (14 ก.พ. 2565) อยู่ที่ 11 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง คาดจะสูงไปจนถึงเดือนเมษายนนี้ หลังจะมีผลผลิตข้าวโพดหลังนาออกสู่ตลาด อย่างไรก็ดีหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ราคาข้าวโพดจะสูงถึง 12 บาทต่อ กก.ในเร็ว ๆ นี้
ขณะเดียวกันข้าวสาลีซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็ราคาก็พุ่งสูงถึง 12 บาทต่อ กก. จากเดิม 8.91 บาทต่อ กก. ผลจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่วนกากถั่วเหลืองนำเข้าราคาขยับตัวสูงแตะ 20 บาทต่อ กก. จาก 16.51 บาทต่อ กก. ส่วนกากถั่วเหลืองที่ซื้อจากโรงสกัดน้ำมันในประเทศอยู่ที่ 21 บาทต่อ กก. นอกจากนี้วัตถุดิบตัวอื่นไม่ว่าจะเป็น มันสำปะหลัง ข้าวสาลี แป้งสาลี ข้าวบาร์เลย์ DDGS หรือ น้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นส่วนประกอบในวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ ก็พร้อมใจกันปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก แม้แต่ถ่านหินซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตอาหารสัตว์ก็ปรับราคาสูงขึ้นเป็น 2 เท่า
ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ประกอบด้วยกัน 2 ส่วน ได้แก่ 1.สถานการณ์ราคาวัตถุดิบในตลาดโลก รวมถึงค่าบริหารและขนส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ 2. นโยบายภาครัฐที่ต้องการดูแลราคาพืชอาหารสัตว์ในประเทศ โดยมีการใช้มาตรการที่บิดเบือนกลไกตลาด อาทิ มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีโดยจะต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ 3 ส่วนก่อนนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน และมีการจำกัดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมาตรการด้านภาษี อาทิ ภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% มาตรการเหล่านี้มองว่าไม่มีความจำเป็นแล้ว เพราะมาตรการประกันรายได้เกษตรกรช่วยดูแลเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว
นายพรศิลป์ กล่าวอีกว่า สมาคมฯได้นำเสนอข้อมูลแนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น ให้กระทรวงพาณิชย์รับทราบแล้ว พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขที่กระทรวงฯสามารถทำได้ เช่น การยกเลิกมาตรการในหลายด้าน อาทิ ขอให้พิจารณายกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2%, มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน และเปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO, AFTA ยกเลิกโควต้าภาษีและค่าธรรมเนียมให้สามารถนำเข้ามาได้ในปริมาณขาดแคลน ในปี 2565 เป็นการชั่วคราว แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
ยกตัวอย่าง เมื่อปี 2552 ราคากากถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงวัตถุดิบตัวอื่นๆ ไม่สูงเท่าวันนี้ แต่รัฐบาลในขณะนั้นได้พิจารณาปรับลดอัตราภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจาก 4% เหลือ 2% ซึ่งช่วยบรรเทาต้นทุนได้ส่วนหนึ่ง ดังนั้น ในวันที่ราคาวัตถุดิบสูงมากเช่นขณะนี้ สมาคมฯ จึงขอวอนรัฐพิจารณามาตรการดังกล่าวโดยเร่งด่วน เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนของผู้ผลิตอาหารสัตว์ เพราะมีสมาชิกหลายรายทนแบกรับต้นทุนต่อไม่ไหว บางรายมีการปรับลดกำลังการผลิตลงแล้วเพื่อลดภาวะขายขาดทุน สถานการณ์เช่นนี้ตอกย้ำว่า ไม่มีใครอยู่รอดได้หากถูกตรึงราคาขายปลายทาง แต่ปล่อยให้ราคาวัตถุดิบต้นทางขึ้นโดยไม่มีการกำกับดูแล และหากไม่มีทางออกในเร็ววันนี้ ไทยอาจจะพบกับวิกฤติขาดแคลนอาหารสัตว์ก็เป็นได้