ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงในที่ประชุมสภาฯ พิจารณาขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือ เสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เป็นวันแรก กล่าวว่า "ตอนนี้ราคาหมูสูงขึ้นหรือไม่ ไม่แพงเพราะอะไร เพราะนายกฯ เข้าไปแก้ไข ช่วยทุกเรื่อง ทั้งเรื่องโรคระบาด ผมไม่ปกปิด แต่สิ่งที่ท่านปกปิดผม ทำไมถึงมีการกักเก็บเนื้อสุกรไว้ในห้องเย็นจำนวนมาก มีคดีอยู่ในศาล และยืนยันว่าจะต้องถูกลงโทษตามกฎหมายทุกประการ ย้ำว่าไม่ได้รังแกใคร และไม่ได้สนับสนุนลูกค้ารายใหญ่ แต่ต้องการให้ประชาชนคนไทยระดับล่างเข้มแข็งให้มากที่สุด โดยรายงานผลการตรวจสอบห้องเย็นสินค้าปศุสัตว์
“การตรวจค้นวันนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 6,536 แห่ง เป้าหมาย โดยมีการทำงานร่วมกันทุกกระทรวง และพบการกระทำความผิดในเรื่องของการกักตุน 15 แห่ง อายัดในส่วนของเนื้อหมูจำนวน 2,036,497.54 กิโลกรัม และถอนอายัดไปแล้ว 1,006,143 กิโลกรัม และยังได้ตรวจสอบห้องเย็นที่รับฝากซากสุกรทั้งทั้งประเทศ 421 เป้าหมาย พบการกระทำความผิด 9 แห่ง ถือเป็นการเก็บกักไม่ทราบที่มา ไม่มีใบอนุญาตขนย้าย ก็อย่างที่ทราบแล้วว่ารอบบ้านเราในภูมิภาคก็เกิดโรคนี้ขึ้นมา ผมคิดว่าเราหลอกเขาไม่ได้หรอกครับ ผมก็หลอกตัวเองของผมไม่ได้เหมือนกัน”
เช่นเดียว นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ขอยืนยันว่า ระบบการป้องกันและเฝ้าระวังโรค ASF ของประเทศไทย ดีที่สุดในอาเซียน สามารถป้องกันโรคได้นาน นับตั้งแต่ปี 2561 ที่พบการระบาดเกิดโรค ASF ในสุกรครั้งแรกในประเทศจีน มีการเตรียมความพร้อมรับมือต่อโรคมาโดยตลอด
โดยสั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค การซ้อมแผนเตรียมความพร้อมรับมือ จัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ASF ในสุกร (contingency plan) และแนวทางเวชปฏิบัติของโรค ASF ในสุกร (Clinical Practice Guideline)
พร้อมได้เผยแพร่ในเว๊ปไซต์ของกรมปศุสัตว์ การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจเข้มนักท่องเที่ยวและเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันโรคเข้าประเทศ เพิ่มมาตรการเข้มงวดในการส่งออก ลดความเสี่ยงจาการส่งออกสุกร
โดยห้ามรถขนส่งสุกรมีชีวิตเข้าไปส่งสุกรในประเทศที่มีการระบาด ให้ใช้รถขนถ่ายข้ามแดนในการส่งสุกรไปยังประเทศปลายทางแทน และต้องมีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค การบูรณาการความร่วมมือร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ในการจัดประชุมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน (ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม) ในการป้องกันโรค การทำงานบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน ในการจัดตั้งโรงพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
สำหรับประเด็นราคาสุกรที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น เมื่อเทียบราคากับสาธารณประชาชนจีนตอนที่มีการระบาดของโรค ASF พบว่าประเทศไทยยังมีราคาที่ถูกกว่ามาก โดยในปี 2563 สาธารณรัฐประชาชนจีนราคาสุกรหน้าฟาร์ม ประมาณ 36 หยวน หรือ 180 บาทต่อกิโลกรัม จะเป็นราคาเนื้อแดง ประมาณ 360 บาท โดยปัญหาราคาเนื้อสุกรแพงนั้นมาจากหลายปัจจัย เนื่องจากปริมาณสุกรมีชีวิตที่ถูกแปรสภาพเป็นเนื้อสุกรลดลง
ประกอบกับภาวะต้นทุนการผลิตสุกรขุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสัตว์ เกษตรกรต้องลดความหนาแน่นของสุกรในฟาร์มและเลิกเลี้ยงสุกรในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงด้านสุขภาพ ซึ่งจะมีการกลับมาเลี้ยงใหม่เมื่อมีการปรับและเตรียมความพร้อมเรียบร้อยแล้ว และเนื่องด้วยการกักตุนเนื้อสุกรในห้องเย็น ซึ่งจากการตรวจสอบห้องเย็นที่เข้มงวด ทำให้ห้องเย็นมีการเข้มงวดในการรับฝากสินค้ามากขึ้น
ทำให้มีการนำเนื้อสุกรมาจำหน่ายทำให้ราคาเป็นตามกลไกตลาด ส่งผลให้ปัจจุบันราคาเนื้อสุกรปรับลดลงแล้ว ทั้งขายส่งห้างปลีกและราคาขายปลีก นอกจากนี้จากการดำเนินงานอย่างเข้มงวดในการควบคุมป้องกันโรค และควบคุมการเคลื่อนย้ายอย่างเข้มงวด ทำให้สามารถควบคุมโรคได้วงจำกัดไม่แพร่กระจายแล้ว
สำหรับการตรวจพบเชื้อ ASF ในเนื้อสุกรที่ส่งออกไปยังประเทศกัมพูชา ในปี 2564 โดยสถาบันวิจัยด้านสุขภาพสัตว์และปศุสัตว์กัมพูชายืนยันตรวจพบเชื้อ ASF จากการตรวจ 2 รอบ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 และวันที่ 8 ตุลาคม 2564 นั้น ตามประกาศของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กรมสุขภาพสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แจ้งว่ามีการจับกุมการกระทำความผิด 2 กรณี เป็นการลักลอบเคลื่อนย้ายสุกร ไม่มีเอกสารใดๆ
ทั้งนี้กองเฉพาะกิจ กรมปศุสัตว์ได้ประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างเข้มงวดมาโดยตลอด และให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดในการปฏิบัติงาน บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด สกัดการลักลอบ 24 ชั่วโมง จากเนื้อข่าวที่ปรากฏ จะต้องมียานพาหนะเป็นองค์ประกอบในการเคลื่อนย้ายสัตว์ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะลักลอบกระทำความผิดดังกล่าว และพื้นที่ที่ปรากฏเป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก ห้ามบุคคลรวมถึงยานพาหนะทุกชนิดเข้าออกตั้งแต่เวลา 18.00 น. – 6.00 น. หากฝ่าฝืนจะมีโทษสถานหนัก
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือ สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง