รัฐ-เอกชนจัดทัพบุกซาอุฯ ชงครม.ร่าง MOU แรงงาน ก่อสร้างอ้อนเงินกู้ดอกต่ำ

18 ก.พ. 2565 | 07:46 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.พ. 2565 | 09:30 น.

ทัพธุรกิจไทยชักแถวบุกซาอุฯ ยานยนต์ เครื่องสำอาง สินค้าแฟชั่น อาหารฮาลาลดาวรุ่ง ลุ้นผ่านรับรองมาตรฐาน 11 รง.อาหาร “บิ๊กตู่” ขีดเส้นทุกหน่วยงานวางโรดแมปสานต่อสัมพันธ์ให้เสร็จใน 2 เดือน “สุชาติ” ชง ครม.ไฟเขียวร่างเอ็มโอยูด้านแรงงาน รับเหมาอ้อนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำก่อนลุย

 

32 ปีความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบียที่ต้องชะงักลงได้กลับฟื้นคืนมาหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้นำคณะเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียระหว่างวันที่ 25-26 มกราคมที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายประกาศจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ในทุกด้านและในทุกระดับให้กลับมาโดยเร็ว

 

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย เผยว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางโรดแมปเพื่อสานต่อความร่วมมือไทย-ซาอุดิอาระเบียนั้น หน่วยงานต่าง ๆ จะเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นให้เห็นเป็นรูปธรรมใน 2 เดือน โดยเรื่องโอกาสการลงทุนนั้น ที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ โดยเรื่องสำคัญด้านหนึ่ง คือ เรื่องของพลังงาน รวมทั้งการผลักดัน Soft Power ซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ ครีเอทีฟ อีโคโนมี ตามโมเดลของรัฐบาลที่จะทำเรื่องของไทยแลนด์ 4.0

 

รัฐ-เอกชนจัดทัพบุกซาอุฯ ชงครม.ร่าง MOU แรงงาน ก่อสร้างอ้อนเงินกู้ดอกต่ำ

 

สำหรับโรดแมปในเบื้องต้นจะครอบคลุมด้านการค้า การลงทุน และด้านแรงงาน ซึ่งเป็นด้านที่ทั้ง 2 ประเทศมีศักยภาพในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน และเพื่อให้การดำเนินการครั้งนี้เห็นผลเป็นรูปธรรม จะมีการพิจารณาจัดตั้งกลไกความร่วมมือทวิภาคีเพื่อผลักดันกรอบนโยบายและแผนความร่วมมือต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม

 

ด้านการลงทุนที่ผ่านมาทีมปฏิบัติการเชิงรุกดึงการลงทุนในไทย ได้ตั้งเป้าหมายดึงดูดต่างชาติ เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 ประเภท ได้แก่ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ยา ดิจิทัล และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยยังพึ่งพาต่างชาติให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดการลงทุนใหม่ตั้งเป้าหมายดึงเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศ 1 ล้านล้านบาทภายใน 2 ปี

 

รัฐ-เอกชนจัดทัพบุกซาอุฯ ชงครม.ร่าง MOU แรงงาน ก่อสร้างอ้อนเงินกู้ดอกต่ำ

 

ด้านการค้าได้กำหนดสินค้าเป้าหมาย 3 ประเภทหลัก ได้แก่ 1. สินค้าเกษตร โดยเฉพาะอาหารฮาลาล เช่น ข้าว อาหารทะเลแปรรูป ไก่สด ผลไม้ กาแฟ ขนมจากน้ำตาล เครื่องปรุงรส อาหารปรุงแต่งจากธัญพืช 2.สินค้าอุตสาหกรรม ประเภทยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้า 3.ภาคบริการ ผ่านโรงพยาบาลและบริการทางการแพทย์ รวมถึงโรงแรมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งไทยล้วนมีศักยภาพในการผลิตและพร้อมส่งออก รวมถึงผ่านซาอุฯไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังซาอุฯ ในปี 2565 จะขยายตัวกว่า 6.2% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีมูลค่าการส่งออก 51,000 ล้านบาท

 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงาน ได้จัดทำร่างบันทึกข้อตกลง (MoU) ความร่วมมือทางด้านแรงงานระหว่างไทย-ซาอุดิอาระเบีย เสร็จสิ้นแล้ว คาดจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบได้ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อรองรับการเดินทางเยือนประเทศไทยของรัฐบาลซาอุฯอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้

 

สุชาติ  ชมกลิ่น

 

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า สนค. ได้ทำการศึกษาโอกาสหลังการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน พบว่า ในแง่เศรษฐกิจการค้าทั้ง 2 ฝ่าย สามารถสร้างความร่วมมือได้ใน 5 ด้านหลัก ได้แก่ แรงงาน การลงทุน การท่องเที่ยว การค้า และอาหาร โดยในส่วนของการค้าเชื่อว่าการส่งออกของไทยไปซาอุฯ จะสามารถกลับไปเหนือระดับ 1 แสนล้านบาทได้ในอนาคต ซึ่งเป็นระดับที่ไทยเคยมีมูลค่าการส่งออกไปซาอุฯ สูงสุดในปี 2557

 

สำหรับปี 2565 คาดมูลค่าการค้ารวม 2 ฝ่าย จะอยู่ที่ประมาณ 280,336 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.3% โดยการส่งออก มีมูลค่า 54,693 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% การนำเข้า มีมูลค่า 225,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% และขาดดุลการค้า 171,004 ล้านบาท

 

สินค้าส่งออกไทยที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในการส่งออกไปซาอุฯ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง

 

“ตลาดซาอุฯ เป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง รองจากตุรกี ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่าจีดีพีของซาอุฯ อยู่ที่ประมาณ 700 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 46,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ คาดปี 2565 เศรษฐกิจของซาอุฯ จะขยายตัว 4.9% จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากการลงทุนที่ขยายตัว และยังมองว่าเศรษฐกิจของซาอุฯ ในปี 2566 จะยังคงขยายตัวที่ 2.3%”

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การฟื้นความสัมพันธ์ครั้งนี้ สินค้าไทยจะมีโอกาสในการเข้าไปเจาะตลาดซาอุฯมากขึ้น โดยกลุ่มสินค้าที่มีโอกาสขยายตัว เช่น ยานยนต์ ส่วนหนึ่งผลจากรัฐบาลซาอุฯได้อนุญาตให้สตรีชาวซาอุฯสามารถขับรถยนต์ได้และมีอิสระมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สินค้าประเภทเครื่องสำอาง เครื่องแต่งกาย สินค้าแฟชั่นสามารถเข้าไปเจาะตลาดนี้ได้มากขึ้น รวมถึงสินค้าฮาลาลมีโอกาสเพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้ซาอุฯ ได้หาคู่ค้าใหม่ ๆ เพิ่ม ดังนั้นหน่วยงานรัฐต้องเร่งจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าการลงทุน การจัดงานแสดงสินค้าในรูปที่พบปะหน้ากันจริง ๆ ของนักธุรกิจ 2 ฝ่าย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ อย่างไรก็ดีขณะนี้การส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปซาอุฯ ยังติดขัดเรื่องตรวจรับรองโรงงาน โดยตรวจแล้ว 11 โรงงาน รอประกาศเป็นทางการ และติดปัญหาการรับรองตราฮาลาล ติดปัญหาการไม่ประกาศรับรองไทยปลอดไข้หวัดนก และการออกมาตรฐาน GSO 993 (ข้อกำหนดว่าด้วยการเชือดสัตว์ตามหลักศาสนาอิสลาม)ที่รอประชุมคณะมนตรีความร่วมมือแห่งรัฐอ่าวอาหรับ 7 ประเทศ ที่มีซาอุฯรวมอยู่ด้วยจะรับรองมาตรฐาน ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ กรมปศุสัตว์ ได้ประสานกับทางการซาอุฯ เพื่อเร่งแก้ปัญหาที่ติดขัดให้จบ เพราะถ้าจบก็จะส่งออกสินค้าไก่ได้ทันที ซึ่งเอกชนพร้อมอยู่แล้ว

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

“หากไทยสามารถเปิดประตูการค้ากับซาอุฯได้มากขึ้น จะทำให้การส่งออกไปซาอุฯกลับไปที่ที่สัดส่วน 2.2% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย เหมือนปี 2532 หรือเพิ่มขึ้นไปถึง 3,000-5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 90,000-150,000 ล้านบาท และจะทำให้ซาอุฯเป็นอีกหนึ่งประตูการค้ากับภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยส่งออกได้ประมาณ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี โดยปีนี้น่าจะขยายตัวเกิน 10%”

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากนี้เอกชนอยากให้กระทรวงพาณิชย์เร่งช่วยปลดล็อกประเด็นที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการค้าไทย-ซาอุฯ และเร่งเจรจา FTA กับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ(GCC) 7 ประเทศ ซึ่งมีซาอุฯเป็นประเทศแกนนำอยู่แล้ว หวังว่าจะเป็นโอกาสให้ค่อย ๆ ทำการตกลงกันได้

 

สนั่น  อังอุบลกุล

 

ขณะภาครับเหมาก่อสร้าง นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ภาคเอกชนผู้รับเหมาก่อสร้างและแรงงานฝีมือไทยมีโอกาสขยายงานไปยังซาอุฯ ซึ่งในทางปฏิบัติต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนทางการเงินหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเหมือนจีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ที่มีข้อได้เปรียบด้านการแข่งขัน

 

ขณะอีกข้อเสียเปรียบไทยเวลานี้มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน 5-7 แสนคน จากแรงงานต่างด้าวกลับประเทศจากผลกระทบโควิด หากรัฐบาลเปิดให้ผู้รับเหมาและแรงงานไปทำงานยังต่างแดน เช่นซาอุฯจะสร้างแรงกดดันให้กับโครงการในประเทศที่ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เบื้องต้นสมาคมฯเห็นด้วยกับนโยบายรัฐแต่ต้องรอความชัดเจนจากทางซาอุฯว่าต้องการแรงงานด้านใดบ้าง

 

หน้า  1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3759 วันที่ 20 -23 กุมภาพันธ์ 2565