ขั้นตอนยังยาว"โอนสนามบินอุดรฯ"ให้AOTยื้อให้"ท้องถิ่น"ดูแลได้

20 ก.พ. 2565 | 11:30 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2565 | 18:42 น.

เอกชนอุดรธานีชี้การโอนภารกิจสนามบินอุดรฯให้AOTบริหาร ยังมีขั้นตอนกฎหมายอีกยาว ยันอบจ.มีศักยภาพพร้อมรับดูแลเอง เชื่อสร้างความเจริญให้ท้องถิ่นได้มากกว่า 

กระทรวงคมนาคม เดินหน้าแผนโอนภารกิจสนามบินอุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ ให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย  จำกัด(มหาชน) หรือ AOT เข้ามาบริหารแทนกรมท่าอากาศยาน(ทย.)ในเดือนมี.ค.2565 นี้     

 

นายสวาท  ธีระรัตนนุกูลชัย  ประธานพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในฐานะประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดอุดรธานี  เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ไม่ใช่จะทำกันได้ง่าย ๆ เพราะกรมท่าอากาศยานเป็นหน่วยงานราชการ และสนามบินเป็นทรัพย์สินของชาติ ที่เกิดขึ้นมาจากเงินภาษีของประชาชน ขณะที่ AOTเป็นบริษัทเอกชน จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายหลายขั้นตอน 
     นายสวาท  ธีระรัตนนุกูลชัย  ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดอุดรธานี

ขั้นตอนยังยาว\"โอนสนามบินอุดรฯ\"ให้AOTยื้อให้\"ท้องถิ่น\"ดูแลได้

อย่างไรก็ตามจะเป็นองค์กรใดหรือเอกชนรายก็ได้ ที่จะเข้ามาทำการบริหารท่าอากาศยานอุดรธานี แต่ขอให้ต้องมีแผนการพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานีที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมจับต้องได้ รวมถึงแผนการพัฒนาลงทุนก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 เพื่อที่สามารถรองรับผู้โดยสารที่จะเพิ่มจำนวนมากในอนาคต

 

เพื่อสร้างความเจริญเติบโต รองรับการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(GMS) และรองรับโครงการรถไฟความเร็วจีน-ลาวที่เปิดใช้โครงการแล้ว รวมถึงโครงการรถไฟไทย-จีน ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  โดยเฉพาะท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมเป็นหลัก การจ้างแรงงานจะต้องให้ความสำคัญกับคนในท้องถิ่นเป็นอันดับแรก การจัดสรรพื้นที่ในอาคารผู้โดยสารให้ท้องถิ่นวางขายสินค้าท้องถิ่นได้ 

ปัจจุบันนี้ท่าอากาศยานอุดรธานีเป็นสนามบินขนาดใหญ่ มียอดผู้โดยสารใช้บริการมากเป็นอันดับหนึ่ง ในบรรดาสนามบินสังกัดของกรมท่าท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม มีอาคารผู้โดยสาร 2 หลัง สามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 3.2 ล้านคน และมีแผนพัฒนาก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 ไว้แล้ว เพื่อรองสำหรับผู้โดยสารให้ได้ 9.7 ล้านคนในอนาคต 

 

ก่อนโควิค-19 มีผู้โดยสารใช้บริการสูงปีละ 2 ล้านคนเศษ  และมีแผนพัฒนาให้ท่าอากาศยานอุดรธานี เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ได้  2ปีของการระบาดของโรคโควิค-19  ทำให้ผู้โดยสารลดจำนวนลงไปเกือบที่จะเป็นศูนย์ แต่ขณะนี้สถานการณ์ของท่าอากาศยานอุดรธานีฟื้นตัว กลับมาเป็นสนามบินที่มีเที่ยวบินและผู้โดยสารสูงที่สุดของทุกสนามบิน ที่สังกัดกรมท่าอากาศยาน อีกครั้ง

 

 โดยระหว่างนี้กรมท่าอากาศยาน ได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตามแผนงานโครงการของกรมท่าอากาศยาน เช่น งานซ่อมบำรุงเสริมทางวิ่งทางขับ ตามวาระ   ซึ่งใกล้จะเสร็จเรียบร้อยในเดือนมีนาคม 2565 นี้    งานปรับปรุงสร้างทางเดินเชื่อมต่ออาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และหลังที่ 2   ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากขึ้น 

 

ส่วนการบริหารท่าอากาศยานอุดรธานีระยะต่อจากนี้ไป จะเป็นใครที่สามารถทำได้ โดยต้องให้เป้นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และต้องมีแผนพัฒนาสนามบินนี้อย่างต่อเนื่อง มีรูปธรรมชัดเจน เพื่อให้ท่าอากาศยานอุดรธานี มีความเจริญเติบโตไปในทิศทางที่จะเกิดการสอดรับ กับการเติบโตและเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ภูมิภาค ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของจังหวัด กลุ่มจังหวัดในภาคอีสานตอนบนทั้งหมด

 

สิ่งที่สำคัญคือการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้า ผู้โดยสารของภูมิภาคที่เชื่อมโยงไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งทางจังหวัดอุดรธานีมีแผนที่ชัดเจนอยู่แล้ว 

 

ดังนั้น ผู้ใดได้สิทธิ์เข้ามาบริหารท่าอากาศยานอุดรธานี  ก็จะต้องยึดหลักสำคัญดังกล่าว ต้องแสดงความเป็นมืออาชีพ ต่อแผนการพัฒนาจังหวัดและพื้นที่อีสานตอนบนที่มีความชัดเจน  รวมทั้งต้องให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม เช่น การจัดสรรพื้นที่ให้ท้องถิ่นสามารถวางขายสินค้าได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือในราคาต่ำ  การจ้างแรงงานท้องถิ่นทั้งแรงงานฝีมือ แรงงานไร้ฝีมือ จะต้องพิจารณาคนในท้องถิ่นก่อนเป็นอันดับแรก  

นายพรเทพ  ศักดิ์สุจริต  รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนักบินเอกชน

ด้านนายพรเทพ  ศักดิ์สุจริต  รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในฐานะของนักบินเอกชน ที่ต้องใช้บริการของสนามบินอุดรธานี เปิดเผยว่า  มองว่าทางกระทรวงคมนาคม น่าที่จะทบทวนข้อเสนอของท้องถิ่น ตามหนังสือขอให้มีการทบทวนแนวความคิด ในการโอนย้ายภารกิจของท่าอากาศยวานอุดรธานี 

 

ทั้งนี้ เอกชนจังหวัดอุดรธานี ได้จัดทำเสนอไปยังกระทรวงและผู้ที่เกี่ยวข้อง ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ให้รอบคอบ พิจารณาด้วยเหตุด้วยผล มีการชี้แจงเหตุจำเป็น เพราะว่าท่าอากาศยานอุดรธานีเป็นสมบัติทรัพย์สินของชาติ ที่เกิดมาด้วยเงินภาษีของประชาชนคนไทยทุกคน  

 

โดยเฉพาะต่อข้อเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่เคยเสนอตัวขอรับการสนับสนุน เข้าทำการดูแลบริหารภารกิจของท่าอากาศยานอุดรธานี ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลนครอุดรธานี หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เช่นเดียวกับประเทศเจริญแล้ว เช่น ญี่ปุ่น หรืออีกหลาย ๆ ประเทศ ที่ให้ท่าอากาศยานอยู่ในภารกิจหนึ่งที่ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลกำกับบริหาร เพื่อที่จะได้มีการนำเอารายได้ส่วนหนึ่งกลับมาพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง น่าที่จะมีความคล่องตัวมากกว่า เพราะเป็นหน่วยงานราชการเหมือนกัน  แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา   

นายพรเทพ  ศักดิ์สุจริต  รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนักบินเอกชน

ซึ่งหากว่าท้องถิ่นได้รับสิทธิ์ในการดูแลกำกับการบริหารสนามบินอุดรธานี เหมือนประเทศเจริญแล้ว น่าจะมีความคล่องตัวมากกว่า มีประสิทธิภาพและคุณภาพ สามารถสร้างความเจริญเติบโตให้กับท้องถิ่น อย่างเช่นท่าอากาศยานนาริตะของญี่ปุ่น เป็นต้น  เพราะรายได้ต่าง ๆ จากสนามบิน สามารถที่จะกลับย้อนมาช่วยพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคงในสังคมท้องถิ่น ส่วนหนึ่งเข้าเป็นรายได้ของรัฐบาลในรูปแบบต่าง  ๆ โดยไม่รั่วไหล 

 

ในฐานะของผู้บริหาร และเป็นนักบินที่ต้องใช้บริการของสนามบินอุดรธานี   ท้องถิ่นมีความสามารถที่จะดูแลกำกับการบริหารท่าอากาศยานอุดรธานี ซึ่งอยู่ในท้องถิ่นของตนเองได้ โดยเฉพาะอุดรธานีที่เป็นท้องถิ่นขนาดใหญ่ มีศักยภาพที่จะเรียนรู้ในเรื่องของการบริหารจัดการสนามบินได้เอง และมีความเชื่อมั่นว่าคนอุดรธานีมีศักยภาพเพียงพอหากมีโอกาสนั้น  

 

ขณะเดียวกันหลายส่วนในจังหวัดอุดรธานี มีความเป็นกะงวลว่า หากกระทรวงคมนาคมโอนย้ายภารกิจให้กับ AOT เข้ามาบริหารสนามบินอุดรธานีตามแผนแล้ว ผู้ใช้บริการท่าอากาศยานอุดรธานี จะต้องมารับภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของสนามบินที่จะต้องเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่า เหมือนสนามบินทุกแห่งที่ AOT เข้าไปบริหารเพราะเป็นเอกชนที่ต้องมุ่งทำกำไร 

 

 “ผมเชื่อว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอุดรธานี โดยคนอุดรธานีเอง มีศักยภาพความสามารถที่จะเรียนรู้ในการบริหารจัดการดูแลกำกับการบริหารท่าอากาศยานอุดรธานีได้เอง เพราะจังหวัดมีแผนการพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานีให้เป็นศูนย์กลางการบิน การเดินทางทางอากาศสู่ภูมิภาคอื่นสู่สากลอยู่แล้ว” นายพรเทพฯกล่าว