นายเจตน์ เกตจำนง ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ และนักธุรกิจไทย-ลาวในพื้นที่บึงกาฬ เผยว่า ขณะนี้การก่อสร้างสะพานข้ามแม่นํ้าโขงแห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ ภาพรวมคืบหน้าแล้ว 32% เศษ คาดว่าจะเสร็จทั้งโครงการ และเปิดให้บริการได้ในต้นปีพ.ศ. 2567 เป็นมิติใหม่ที่จะเปิดช่องทางและโอกาสหลายด้าน
ในฐานะนักธุรกิจที่ลงทุนในพื้นที่ มองว่าหลังการเปิดใช้สะพาน จะเกิความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในจังหวัดบึงกาฬ เนื่องจากสะพานแห่งใหม่นี้จะเป็นช่องทางสำคัญหนึ่งที่เปิดโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ยกระดับระบบโลจิสติกส์ในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขง (GMS)
อำนวยความสะดวกการค้าขาย ขนถ่ายสินค้าเข้าออก ตลอดจนการเดินทางท่องเที่ยว ทั้งในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน และประเทศไทย ไปยังชายฝั่งทะเลจีน ใต้ที่ท่าเรือนํ้าลึกหวุงอ๋างในเวียดนาม ในแนวเส้นทาง R8 และ R12 ที่มีระยะทางไม่ถึง 300 ก.ม. จากปัจจุบันที่ต้องใช้เรือบั๊กหรือแพขนานยนต์ในการขนส่งข้ามลำนํ้าโขง การเปิดใช้สะพานจะทำให้สะดวกขึ้นมาก และช่วยเพิ่มการค้าชายแดนขึ้นอีก
นอกจากนี้ยังมีโอกาสลงทุนของนักลงทุนไทย ที่ต้องการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่างๆ ในสปป.ลาว โดยเฉพาะในด้านเหมืองแร่ต่างๆ เนื่องจาก สปป.ลาว มีแหล่งแร่ธาตุธรรมชาติคุณภาพดีที่อุดมสมบูรณ์ประเทศหนึ่งในกลุ่มอาเซียน และอยู่ไม่ไกลจากจังหวัดบึงกาฬ อาทิ แหล่งแร่เหล็กที่แขวงไชยสมบูรณ์ แหล่งแร่ทองแดง แร่โปแตซ ซึ่งปัจจุบันได้มีนักลงทุนจากประเทศจีน ได้รับสัมปทานประกอบการแล้วจำนวนหนึ่ง
แต่ที่ผ่านมาอาจมีปัญหาความแตกต่างด้านการปกครองและกฎหมาย จึงคิดว่าน่าจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนไทยเพิ่มขึ้นในรูปแบบรัฐต่อรัฐ จึงจะเสนอให้จังหวัดบึงกาฬไปเจรจาปรึกษาหารือในคณะกรรมการชายแดนระดับท้องถิ่น หรือรูปแบบ ใดรูปแบบหนึ่ง บนพื้นฐานการสร้าง สรรค์ประโยชน์ร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่เหลือก่อนจะเปิดใช้สะพานข้ามแม่นํ้าโขงแห่งที่ 5 นี้ ในพื้นที่ต้องเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด โดยอยู่ระหว่างผลักดันการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หรือการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ ให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้
ด้านนายบุญเพ็ง ลามคำ ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยว่า เนื่องจากบึงกาฬเป็นจังหวัดขนาดเล็ก อยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงตอนบน 1 ประกอบกับทาง สปป.ลาวยังไม่ได้ประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบ 100% อนุญาตให้เฉพาะรถบรรทุกสินค้าเข้า-ออกเท่านั้น การค้าขายในระดับชาวบ้านยังทำไม่ได้เหมือนช่วงก่อนเกิดการระบาดเชื้อโควิด-19
หอการค้าจังหวัดบึงกาฬร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดบึงกาฬ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมการส่งเสริมการค้าการท่องเที่ยว ร่วมกับสภาการค้า แขวงบอลิคำไซ และองค์การท่องเที่ยวแขวงบอลิคำไซ แบบเชื่อมโยงทั้งสองฝั่งแม่นํ้าโขง โดยในเบื้องต้นได้โทรศัพท์พูดคุยปรึกษาหารือกันแล้ว เพียงรอสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 คลี่คลายลงไปในทางที่ดีกว่านี้ ก็พร้อมจะดำเนินการได้เลย
ทั้งนี้บึงกาฬมีแหล่งท่องเที่ยวครบทุกมิติ เช่น ถํ้านาคา ที่กำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว นํ้าตกต่างๆ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น หินสามวาฬ หินวาฬกลางแม่นํ้าโขง ตั้งอยู่ใกล้กับจุดที่ตั้งสะพานฯแห่งที่ 5 อุทยานภูลังกา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมตามชุมชนต่างๆ และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมะ เช่น วัดแก่งอาฮง ตำนานสะดือแม่นํ้าโขง วัดภูทอก เป็นต้น
โดยหลังการระบาดคลี่คลาย จะจับมือกันส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามนํ้าโขง ระหว่างบึงกาฬกับแขวงบอลิคำไซ ในลักษณะบ้านพี่เมือง น้อง ที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมที่คล้ายกัน ในชื่อ “ท่องเที่ยวลุ่มนํ้าโขง ไหว้พระเก้าวัด ตามรอยพญานาคา” ในรูปแบบของ BCG Model ด้านการท่องเที่ยว ด้วยการเดินทางล่องนํ้าโขงแวะไหว้พระตามวัดทั้งสองฝั่งสลับกันทั้งฝั่งบึงกาฬและฝั่งแขวงบอลิคำไซจนครบ 9 วัด จะเป็นการท่องเที่ยวล่องโขงตามธรรมะคราวเดียว 2 ประเทศ เพื่อเป็นสร้างเสริมศักยภาพและรายได้จากการท่องเที่ยวร่วมกันของทั้งสองฝ่าย
ส่วนการพัฒนาบึงกาฬนั้น ขณะนี้แผนงานต่างๆ คืบหน้าไปตามขั้นตอน นอกจากการก่อสร้างสะพานข้ามนํ้าโขง 5 ที่คืบหน้ากว่า 32% แล้ว การก่อสร้างสนามบินบึงกาฬ คาดจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 ทางหลวงสายใหม่เส้นทางบึงกาฬ-อุดรธานี คาดจะเริ่มก่อสร้างปี 2568 และใช้เวลา 3 ปีจะเสร็จเรียบร้อย
“ด้านการค้าชายแดนที่ผ่านมา ช่วงเดือนตุลาคม 2564-มกราคม 2565 จากการระบาดเชื้อโควิด-19 ทำให้มีมูลค่าลดลง แต่คาดว่าหลังเปิดใช้สะพานข้ามโขง การค้าชายแดน ที่นี่จะเปลี่ยนโฉม โดยมีสปป.ลาว เป็นตัวกลาง เชื่อมระหว่างไทยกับเวียดนาม
ส่วนการลงทุนที่เวลานี้ยังน้อยอยู่ ส่วนใหญ่เป็นการรับซื้อนํ้ายางพาราเพื่อแปรรูปเป็นยางแท่งส่งจีน จากที่บึงกาฬมีพื้นที่เพาะปลูกยางพารามากสุดในอีสาน หลังเปิดสะพานคิดว่าจะมีการลงทุนแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก และการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะใช้ประโยชน์จากสะพานข้ามโขง 5 หรือรถไฟจีน-ลาว ที่เพิ่มความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายการขนส่งกันมากขึ้น” ประธานหอการค้าบึงกาฬยํ้า
หน้า10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,761 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ.2565