ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานจังหวัดบึงกาฬรายงานความก้าวหน้า โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 5 บึงกาฬ-บ่อลิคำไซ มูลค่าโครงการ 3,653 ล้านบาทเศษ โดยการก่อสร้างแบ่งออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่
สัญญาที่ 1 การก่อสร้างถนนฝั่งไทยวงเงิน 831 ล้านบาท เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 30 มิ.ย 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 16 ธ.ค. 2565 สัญญาที่ 2 การก่อสร้างด่านพรมแดน ศุลกากร อุปกรณ์ต่าง ๆ และถนนภายในด่าน วงเงิน 883 ล้านบาท เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 13 มี.ค. 2566 และ
สัญญาที่ 3 งาน สะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย (รวมงานปรับปรุงสี่แยกทางหลวงหมายเลข 212 และลานอเนกประสงค์ใต้สะพาน) วงเงินรวม 1,263 ล้านบาท แบ่งเป็น ฝั่งไทย วงเงิน 787 ล้านบาท และฝั่ง สปป.ลาว วงเงิน 476 ล้านบาท โดยได้กู้เงินกับสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. โดยในส่วนของไทย เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 8 พ.ย. 2566
ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 23565 มีความคืบหน้าในภาพรวมอยู่ที่ 32.745% เร็วกว่าสัญญาเล็กน้อย อยู่ที่ 0.691% คาดการณ์ว่าโครงการดังกล่าว จะแล้วเสร็จครบทั้งฝั่งไทย และ สปป.ลาว พร้อมเปิดให้บริการภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567
โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) พร้อมโครงข่าย เป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS)
ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyarwady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา-สปป.ลาว-สหภาพเมียนมา-ไทย-เวียดนาม
รวมถึงเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในกลุ่มอนุภาคตอนบน และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดบึงกาฬและจังหวัดใกล้เคียง ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างประเทศ ในการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและขนส่ง ระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว สำหรับรองรับปริมาณการเดินทางและขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น
นายเจตน์ เกตุจำนง ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ และนักธุรกิจระหว่างประเทศในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ กล่าวถึงอนาคตของจังหวัดบึงกาฬหลังจากเมื่อการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 บึงกาฬ-บ่อลิคำไซเสร็จเรียบร้อยแล้ว ว่า สะพานดังกล่าวจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการอำนวยความสะดวก ในการเดินทางขนส่งของภูมิภาคกลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขง
ที่สำคัญมากคือจะเป็นช่องทางหนึ่ง ที่จะนำไปสู่การลงทุนของนักลงทุน ทั้งของไทยและนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งนี้ ในส่วนของนักลงทุนไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุนในประเทศ สปป.ลาว เพราะมองว่าเป็นประเทศที่น่าลงทุน
โดยเฉพาะการลงทุนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ชนิดต่าง ๆ เช่น เหมืองหินที่ภูงู เพื่อนำเข้ามาใช้ในจังหวัดตามริมแม่น้ำโขง ทดแทนหินจากจังหวัดเลย ที่เริ่มลดน้อยลงและมีระยะขนส่งไกล เหมืองแร่เหล็ก ที่แขวงไชยสมบูรณ์ หรือแร่ทองแดงที่ภูเบี้ย และจะเป็นช่องทางส่งออกนำเข้าสินค้า จากท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง เวียดนาม ตามถนนหมายเลข R 8, R12 ระยะทางเพียงประมาณ 300 ก.ม.
เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อกัน ในเรื่องของการค้าขายการลงทุนระหว่างกัน จึงมีแนวคิดที่จะนำเสนอเสนอแนวความคิดดังกล่าวให้กับคณะกรรมการชายแดนจังหวัด ในการทำสัญญาลงทุนแบบรัฐต่อรัฐ เพื่อนำเข้าพูดคุยในที่ประชุมคณะกรรมการชายแดนต่อไป นายเจตน์ฯกล่าว