ซีพีเอฟ เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

08 มี.ค. 2565 | 08:30 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มี.ค. 2565 | 15:32 น.

ซีพีเอฟ สานต่อโมเดลธุรกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่องตามนโยบาย BCG พัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.48 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า พร้อมหนุนสัดส่วนรายได้ที่มาจากผลิตภัณฑ์สีเขียว 40 %  มุ่งสู่การเป็นองค์กรรักษ์โลกและผลิตอาหารอย่างยั่งยืน  

8 มีนาคม 2565 นางสาวกุหลาบ กิมศรี รองกรรมการผู้จัดการ สำนักระบบมาตรฐานสากล ซีพีเอฟ  เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ มีความมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Products) ทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ฉลากลดโลกร้อนที่มีการวิเคราะห์ผลกระทบด้านความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล เพื่อสนับสนุนการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากผลิตภัณฑ์ของบริษัท

 

ทั้งนี้ บริษัทฯได้เริ่มประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ มาตั้งแต่ปี 2552 ด้วยการนำหลักการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment : LCA ) ตามมาตรฐานสากล ISO 14040,  ISO 14044  และ ISO 14067  ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การผลิต การจัดจำหน่าย การบริโภค และการกำจัดของเสีย  สู่เป้าหมายการผลิตอาหารที่ยั่งยืน  

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของซีพีเอฟ มากกว่า  790 รายการ มีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์  และมากกว่า 30 รายการ เป็นผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำที่ได้รับรองฉลากลดโลกร้อนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้แก่ อาหารไก่เนื้อ ไก่ เป็ด และ สุกรขุนมีชีวิต

 

ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ เนื้อเป็ด และหมูสด เป็นผลจากการพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ ให้มีโภชนาการที่เหมาะสมกับการเติบโตแต่ละช่วงวัย และการลดการสูญเสียอาหาร (Food Loss) ในกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิต และการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ทำให้ได้ห่วงโซ่การผลิตผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ  ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงอย่างต่อเนื่อง 

"ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร ทั้งผลิตภัณฑ์อาหารที่บริโภค รวมไปถึงการผลิตอาหารสัตว์ โดยมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน  ตั้งแต่การจัดหาแหล่งวัตถุดิบ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน การพัฒนาบรจุภัณฑ์ที่่ยั่งยืน ตลอดจนการขนส่งเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก" นางสาวกุหลาบ กล่าว

 

ทั้งนี้ การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์และฉลากลดโลกร้อน ทำให้บริษัทฯ บรรลุเป้าหมายที่สำคัญ  ซึ่งปัจจุบัน  33 %  ของรายได้มาจากผลิตภัณฑ์สีเขียว (CPF Green Revenue )  ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำได้รวม 1.483 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะที่บริษัทฯ มีเป้าหมายด้านสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์สีเขียวที่  40 % ในปี 2030 (หรือปี พ.ศ. 2573) ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน  CPF 2030 Sustainability in Action และเป็นไปตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ  Bio Circular Green Economy (BCG)

 

นอกจากนี้ในปี 2564 ซีพีเอฟยังได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในการประเมินองค์กรธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business Index: LCSi) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งสะท้อนประสิทธิภาพการผลิตที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยลดภาวะโลกร้อน ส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารยั่งยืนสู่ผู้บริโภค