ปรากฏการณ์ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น สั่งรื้อคดี โฮปเวลล์ ใหม่ เปิดโอกาสให้ กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต่อสู้คดี ประเมินว่าอาจเป็นชนวนให้ รัฐไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาทให้กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับสัมปทาน
ตามคำร้องอุธรณ์ ในคดีหมายเลขดำที่ 107/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366/2557 ระหว่างกระทรวงคมนาคม ที่ 1 กับพวก รวม 2 คน ฐานะผู้ร้อง กับ บริษัท โฮปเวลล์ ฯผู้คัดค้านคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา โดยกระทรวงคมนาคมให้เหตุผลว่า
อายุความของคดีโฮปเวลล์ได้ขาดอายุลงโดยนับตั้งแต่ รฟท.มีหนังสือบอกเลิกสัญญา ปี 2541มิใช่วันที่ศาลปกครองเปิดดำเนินการปี 2544 และศาลรัฐธรรมนูญลงมติปี 2564 วินิจฉัยชัดว่าการนับอายุความตั้งแต่วันตั้งศาลปกครอง ปี 2544 ถือว่าขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ
กล่าวคือ หากนับตั้งแต่วันที่ปรากฎหลักฐานการบอกเลิกสัญญา ถึงปี2564คดีอยู่ที่23ปี และกรณีนับอายุความตั้งแต่ปีท่ี่ศาลปกครองตั้งขึ้น ถึงปี2564อายุความจะอยู่ที่20ปีพอดีใช่หรือไม่ที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญลงมติปี 2564 การนับอายุความตั้งแต่วันตั้งศาลปกครอง ปี 2544 ถือว่าขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม เบื้องหลัง คำสั่ง รื้อฟื้นคดีโฮปเวลล์ ครั้งนี้เกิดจาก นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานศึกษาปัญหาสัญญาโฮปเวลล์ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ตีโจทย์ข้อกฎหมายให้กับกระทรวงคมนาคมและรฟท. ช่วยให้รัฐบาลไม่ต้องเสียเงินงบประมาณที่อาจสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท โดยใช้เวลาตรวจสอบเรียบเรียงเอกสารที่หมักหมมเปลี่ยนผ่านมาหลายรัฐบาล นับตั้งแต่ปี 2562
นายพีระพันธ์ระบุว่า นอกจากคดีหมดอายุความแล้ว คณะทำงานฯด้านคดีโฮปเวลล์ ยังเตรียมฟ้องในคดีแพ่งต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้พิพากษาว่า การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องกับคดีโฮปเวลล์เป็นโมฆะตามกฎหมายโดยยืนยันว่า บริษัทดังกล่าวไม่มีตัวตนจริง
“ฐานเศรษฐกิจ” โทรศัพท์สอบถามไปยังบริษัทโฮปเวลล์ฯคำตอบที่ได้รับจากปลายทางคือไม่มีเลขหมายตามที่เรียกไปประเมินว่า น่าจะไม่มีบริษัทในลักษณะดังกล่าวเปิดให้บริการหรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงเบอร์โทรศัพท์ติดต่อก็เป็นได้
สอดคล้องกับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มองว่า เป็นเรื่องดีแต่ เนื่องจากเรื่องดังกล่าว ยังไม่จบกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งช่วยเปิดโอกาสให้ภาครัฐได้ดำเนินการต่อสู้คดีใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งประเด็นที่จะนำมาต่อสู้หลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุความของคดี มติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) การจดทะเบียนวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการลงนามในสัญญา ผู้ลงนามไม่ใช่บริษัทที่ได้รับสัมปทาน เป็นต้น
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่ารฟท. เปิดเผยว่านับจากนี้จะต้องเตรียมความพร้อมในการเดินหน้าต่อไปตามกฎหมาย ยืนยันว่า ทางกระทรวงคมนาคม และรฟท. มีความพร้อมในเรื่องนี้ และพร้อมปรับตัวให้สอดคล้องต่อรูปคดีที่เกิดขึ้นจนถึงที่สุดต่อไป
“มั่นใจว่าการต่อสู้คดีในครั้งนี้ จะได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมในครั้งต่อไป ทั้งนี้ จากการเตรียมตัวในเรื่องกฎหมายแล้ว ทางรฟท.ได้มีการหารือกันในการวางรูปคดีของเรื่องนี้ให้ดีที่สุด เพื่อให้ศาลได้ค้นหาความจริงได้อย่างเต็มที่ จนนำไปสู่ดุลพินิจที่ถูกต้อง และเราในฐานะองค์กรของรัฐเราพร้อมเคารพในคำตัดสินของศาลฯโดยถึงที่สุดอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ส่วนหลังจากนี้ภาครัฐจะต้องจ่ายค่าโง่ ให้กับบริษัทโฮปเวลล์หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ ต้องรอให้กระบวนการการตัดสินอีกที ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้ให้นโยบายให้รฟท.ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด”
ปมข้อพิพาท คดีโฮปเวลล์เกิดจาก รฟท. ประมูลโครงการก่อสร้างถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.)-ปริมณฑล ระยะทาง 60.1 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2533 ครั้งนั้นบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติฮ่องกง บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ชนะประมูล และลงนามในสัญญาวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 อายุสัมปทาน 30 ปีตั้งแต่ วันที่ ปี 2533-2562 โดยจดทะเบียนตั้งบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ดำเนินโครงการโฮปเวลล์ในภายหลัง
ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี2540 รฟท.พบว่าเอกชนก่อสร้างโครงการช้ากว่าแผนค่อนข้างมาก เป็นเหตุให้รฟท.บอกเลิกสัญญา กับบริษัทโฮปเวลลล์ ในปี 2541 แต่บริษัทโอปเวลล์อ้างว่า การก่อสร้างที่ล่าช้าเพราะรฟท.ที่ส่งมอบพื้นที่ล่าช้าไม่ครบตามสัญญา และนี่คือชนวนเหตุที่ทำให้กลายเป็นมหากาพย์โฮปเวลล์จนถึงทุกวันนี้
ทั้งนี้อายุความคดีอาญา20ปีหากนับอายุความตั้งแต่ปี2541(รฟท.มีหนังสือบอกเลิกสัญญาสัมปทาน)ถึงปี2564 คดีโฮปเวลล์มีอายุ23ปี หากเริ่มนับคดีตั้งแต่ปี2544(ศาลปกครองเปิดดำเนินการ)ถึงปี2564คดีมีอายุ20ปีดังกล่าว