จับตา ศาลปกครอง สั่ง ฟื้นคดี ค่าโง่ โฮปเวลล์

04 มี.ค. 2565 | 01:30 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2565 | 11:45 น.

จับตาศาลปกครองสั่งฟื้นคดีค่าโง่ โฮปเวลล์ ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดประเด็นการนับอายุความตาม ที่กระทรวงคมนาคม-รฟท.ยื่นคำร้อง

 

"จับตาศาลปกครองสั่งฟื้นคดีค่าโง่โฮปเวลล์"วันที่4มีนาคม2565 เวลา13.30น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด  ในคดีหมายเลขดำที่ 107/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366/2557 ระหว่างกระทรวงคมนาคม ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ร้อง) กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้คัดค้าน) (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา)

 

 

เนื่องจากที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ยกคำร้องของ กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นเหตุให้ ฝ่ายรัฐอาจจะต้องจ่ายชดเชยค่าเสียหายให้กับบริษัทโฮปเวลล์มูลค่ากว่า2.4หมื่นล้านบาท

 

 

ข่าววงในจากศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า วันที่4มีนาคม จะมีการแถลงเรื่องการจะต้องกลับมารื้อฟื้นพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่อีกครั้ง ตามที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะทำงานศึกษาปัญหาสัญญาโฮปเวลล์ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกรณี ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ามติที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองสูงสุด ที่นำมาใช้ในการวินิจฉัยคดีโฮปเวลล์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และตั้ง คณะทำงานฯดำเนินการรื้อคดีดังกล่าวใหม่

 

 

สอดรับกับแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า อาจจะมีความเป็นไปได้ที่ ศาลปกครองสูงสุดอาจจะมีคำสั่งให้กลับมารื้อฟื้นพิจารณาคดีโฮปเวลล์ขึ้นใหม่ อีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็นการนับอายุความ ที่กระทรวงคมนาคมและรฟท.ยื่นคำร้อง อีกทั้งอำนาจตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัย รัฐต้องชดเชยค่าเสียหายให้กับโฮปเวลล์ อาจจะไม่มีผลผูกพันธ์ ต่อศาลในคดีดังกล่าว

 

โดยรฟท.ระบุว่าการบอกเลิกสัญญญาบริษัท โฮปเวลล์ ฯตามสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของรฟท.โดยมิชอบเห็นว่า คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดไปโดยไม่มีอำนาจ และคำชี้ขาดดังกล่าวเป็นการชี้ขาดเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการฯ ซึ่งสำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดให้ผู้ร้องทราบตามหนังสือลงวันที่ 28 ตุลาคม 2551 กระทรวงคมนาคมและรฟท.จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

 

 

 

 

 

 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม  2563  ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำร้องของกระทรวงคมนาคม และ รฟท.ที่ต้องการให้มีการรื้อฟื้นคดีโฮปเวลล์ ขึ้นมาพิจารณาใหม่  หลังจากวันที่ 21 มีนาคม 2562 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ยกคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ รฟท.

 

โดยให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 และข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551ตัดสินให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทั้ง 2 ฉบับ จ่ายค่าก่อสร้างโครงการ 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% รวมประมาณ 24,798 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับจากวันที่คดีถึงที่สุด

 

รวมทั้งให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ให้กับบริษัทโฮปเวลล์ฯ ทั้งหมด แต่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งรฟท.ให้หาหลักฐานต่อสู้คดีใหม่เพื่อดำเนินการส่งฟ้องศาลอาญาทุจริต โดยใช้โมเดลคดีคลองด่าน

 

มหากาพย์คดีโฮปเวลล์เริ่มต้นจากปี 2533 มีการเปิดประมูลโครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่แห่งวงการก่อสร้างของฮ่องกงและมีการเซ็นสัญญาในวันที่ 9 พ.ย. 2533 โดยสัญญาสัมปทานมีอายุยาวนานถึง 30 ปี โดยบริษัทโฮปเวลล์จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมใช้วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท  การก่อสร้างใช้เวลา 8 ปี

 

 

 

ต่อมารฟท.ตรวจพบมีการก่อสร้างล่าช้า บริษัท โฮปเวลล์ อ้างเหตุที่ก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากรฟท.ไม่ส่งมอบที่ดินให้ได้ตามข้อตกลง ซึ่งเป็นช่วงที่ บริษัทขาดสภาพคล่องทางการเงินเเละปัญหาเศรษฐกิจหลายด้านทำให้โครงการต้องล้มเลิกโครงการเเละเริ่มทำต่อในหลายรัฐบาลก่อนจะ หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง ในช่วงปี2540-2541 เป็นเหตุให้บริษัท โฮปเวลล์ฯยื่นฟ้อง กระทรวงคมนาคม และรฟท. วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท จากกรณีบอกเลิกสัญญา โดยรฟท. เองก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายในการเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการเป็นจำนวน 2 แสนล้านบาท

 

เรื่องถูก นำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ปี 2551 คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และรฟท.คืนเงินชดเชยแก่บริษัท โฮปเวลล์ 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่โฮปเวลล์ จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมและเกิดการฟ้องร้องกันไปมาระหว่างรัฐกับเอกชนดังกล่าว