แนะรัฐยกเลิก Test&Go-ตรึงราคาพลังงานหลังดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ร่วงยกแผง

10 มี.ค. 2565 | 06:49 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มี.ค. 2565 | 13:50 น.

แนะรัฐยกเลิก Test & Go-ตรึงราคาพลังงานหลังดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ร่วงยกแผง ส.อ.ท. หวังเสริมสร้างบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวของไทย ผ่อนผลกระทบต้นทุนการผลิต

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาครัฐยกเลิกมาตรการ Test & Go โดยให้ผู้เดินทางเข้าประเทศแสดงวัคซีนพาสปอร์ตแทนก่อนเข้าประเทศ

 

พร้อมทั้งจัดให้มีระบบตรวจติดตามผู้เดินทางเข้าประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และเสริมสร้างบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวของไทย

 

อีกทั้ง ควรเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาทิ การสำรองยาให้เพียงพอ บริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยวิกฤต

 

สนับสนุนยาและสิ่งของจำเป็นในการกักตัว Home Isolation เพิ่มจำนวนโรงพยาบาลสนาม/ศูนย์พักคอย และการแจกชุดตรวจ ATK ให้กับกลุ่มเสี่ยง

ออกมาตรการดูแลราคาพลังงาน อาทิ การตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาก๊าซ และการคงค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม

 

ขอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ-เอกชน เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งหามาตรการบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการด้านการค้า

 

และประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพื่อให้ภาคเอกชนนำไปวางแผนการค้าหรือแสวงหาโอกาสทางค้าในตลาดที่มีศักยภาพ

 

แนะรัฐยกเลิก Test & Go

 

นายสุพันธุ์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า  ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกกรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ระดับ 86.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.0 ในเดือนมกราคม

 

โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ปรับตัวลดลงทุกรายการทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลกระกอบการ 

ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้ภาครัฐยกระดับการเตือนภัยโรคโควิด-19 จากระดับ 3 เป็นระดับ 4 ทั่วประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า 

นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสินค้าปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบราคาพลังงานที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงตามทิศทางราคาตลาดโลกรวมถึงต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที)

 

ในด้านการส่งออกผู้ประกอบการเผชิญความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้านำเข้าขณะที่ปัญหา Supply Disruption ที่ยังไม่คลี่คลาย นอกจากนี้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้เศรษฐกิจการค้าโลกมีความไม่แน่นอน

 

แต่อย่างไรก็ตามในเดือนกุมภาพันธ์ยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐผ่านโครงการคนละครึ่งเฟส 4 และการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนบางส่วน

 

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,242 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นได้แก่ ราคาน้ำมัน 75.2% ,สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 68.5% ,เศรษฐกิจในประเทศ 56.8%

 

,สภาวะเศรษฐกิจโลก 52.3% ,อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 48.3% ,สถานการณ์การเมืองในประเทศ 45.5% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 45.6% 

 

สำหรับดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 97.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 96.4 ในเดือนมกราคม ผู้ประกอบการเห็นว่าการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ไม่รุนแรงเหมือนช่วงก่อนหน้า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังดำเนินต่อไปได้ขณะที่ภาคการผลิตทั่วโลกยังคงขยายตัวส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย

 

นอกจากนี้การผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศตามนโยบายTest & Go ช่วยเอื้อต่อการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป