เริ่มแล้ว ลงนามสัญญา สร้างรถไฟฟ้าม่วงใต้ 8.2 หมื่นล้าน

11 มี.ค. 2565 | 10:20 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2565 | 17:28 น.

รฟม.จับมือเอกชนลงนามสัญญาสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ ดึงเอกชนเข้าพื้นที่ตอกเสาเข็มในปี 65 คาดเปิดให้บริการปี 70

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า สำหรับพิธีลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระหว่าง รฟม. กับ ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา ทั้ง 6 สัญญา โดยมีผู้แทน ประกอบด้วย นายวัชระ แสงหัตถวัฒนา ผู้แทนบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) นายประเสริฐ คงเคารพธรรม ผู้แทนบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) นายธรณิส กรรณสูต ผู้แทนบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) นายพลพัฒ กรรณสูต ผู้แทนบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และนายประสงค์ สุวิวัฒน์ธนชัย ผู้แทนบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 

 

 

 

ทั้งนี้ได้มีการลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระหว่าง รฟม. ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาทั้ง 6 สัญญา และผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม โดยกระบวนการขั้นตอนการคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา จนสามารถลงนามสัญญาจ้างร่วมกันได้วันนี้ นั้น รฟม. ได้ดำเนินการตามข้อกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ตามแนวนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม 
 

นายภคพงศ์  กล่าวต่อว่า เบื้องต้นรฟม.ได้กำหนดระยะเวลาดำเนินงานสำหรับการก่อสร้างงานโยธาทั้ง 6 สัญญา ไว้ที่ 2,005 วัน นับจากวันที่ รฟม. ได้มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ให้กับผู้รับจ้าง ตามแผนงานจะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2565 และคาดว่าจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ภายในปี 2570 

 


นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯ เตรียมความพร้อมในส่วนของแรงงาน เครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์ เพื่อเข้าพื้นที่ก่อสร้างโครงการทันที หากมีการลงนามสัญญาและ รฟม.ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าพื้นที่ (NTP) เนื่องจากปัจจุบันบริษัทฯ ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันออกแล้วเสร็จ จึงมีความพร้อมที่จะเคลื่อนย้ายแรงงานและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเข้าพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้

 


“สายสีม่วงใต้เราเป็นพันธมิตรกับ ช.การช่าง โดยทาง ช.การช่างเป็นลีดเดอร์ เพราะผลงานอุโมงค์ของทางบริษัทฯ ยังไม่แล้วเสร็จจึงนำผลงานของทาง ช.การช่างยื่นประมูล แต่เราจะร่วมกันก่อสร้างงานสายสีม่วงใต้ สัดส่วนของมูลค่างานก็จะมีส่วนต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น”

เริ่มแล้ว ลงนามสัญญา สร้างรถไฟฟ้าม่วงใต้ 8.2 หมื่นล้าน

สำหรับเอกชนผู้ชนะการประกวดราคาทั้ง 6 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ กลุ่มกิจการร่วมค้า CKST-PL JOINT VENTURE ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะ โดยเสนอราคา 19,433 ล้านบาท

สัญญาที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้า กิจการร่วมค้า CKST-PL JOINT VENTURE เป็นผู้ชนะ โดยเสนอราคา 15,880 ล้านบาท

สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า – สะพานพุทธ กิจการร่วมค้า ITD - NWR MRT JOINT VENTURE ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะ โดยเสนอราคาราว 15,109 ล้านบาท

เริ่มแล้ว ลงนามสัญญา สร้างรถไฟฟ้าม่วงใต้ 8.2 หมื่นล้าน

 

สัญญาที่ 4 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงสะพานพุทธ – ดาวคะนอง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะ โดยเสนอราคา 14,982 ล้านบาท 

 

สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงดาวคะนอง – ครุใน อาคารจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard) และอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะ โดยเสนอราคาราว 13,139 ล้านบาท 
และสัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะ โดยเสนอราคาราว 3,591 ล้านบาท

 

เริ่มแล้ว ลงนามสัญญา สร้างรถไฟฟ้าม่วงใต้ 8.2 หมื่นล้าน

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เป็นโครงการรถไฟฟ้า ที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างนนทบุรี กับกรุงเทพมหานครฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี รวมถึงสมุทรปราการ เข้าด้วยกัน มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กิโลเมตร 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 10 กิโลเมตร 7 สถานี