ก.พ.นี้ เคาะผลประมูล ชิงเค้กรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ 8.2 หมื่นล้าน

12 ม.ค. 2565 | 13:04 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2565 | 20:10 น.

รฟม.เปิดไทม์ไลน์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ หลังบิ๊กเอกชน 5 ราย แห่ชิงเค้ก 8.2 หมื่นล้านบาท จ่อลงนามสัญญา มี.ค.นี้ เร่งชงครม.ไฟเขียวประมูลติดงานตั้งเดินรถ-ระบบรถไฟฟ้า 2.3 หมื่นล้าน ภายในปี 65

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึง ความคืบหน้าการประกวดราคาจ้างงานก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) 6 สัญญา วงเงินกว่า 8.2 หมื่นล้านบาทว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเอกสารต่างๆ ของบริษัทเอกชนที่ยื่นเอกสารเสนอเข้ามา คาดว่าจะพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ซองที่ 1 และด้านเทคนิค ซองที่ 2 แล้วเสร็จในต้นเดือน ก.พ.65 จากนั้นจะนัดหมายผู้ผ่านการพิจารณาซองที่ 2 เพื่อเปิดข้อเสนอด้านราคา ซองที่ 3 พร้อมกัน เพื่อให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ. ก่อนเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟม. พิจารณา และคาดว่าจะลงนามสัญญากับเอกชนได้ในเดือน มี.ค.65 ก่อนเริ่มงานก่อสร้างต่อไป

 

 

 


ขณะเดียวกันโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2,005 วัน หรือประมาณ 5 ปีครึ่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 70  ปี ทั้งนี้รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างนนทบุรี กับกรุงเทพฯ ฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี รวมถึงสมุทรปราการ มี 17 สถานี แบ่งเป็น 10 สถานีใต้ดิน ระยะทาง 13.6 กิโลเมตร(กม.) และ 7 สถานียกระดับ ระยะทาง 10 กม. สำหรับ 6 สัญญา มีราคากลาง 7.87 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด(Provisional Sum) วงเงิน 3.58 พันล้านบาท จะอยู่ที่ 8.2 หมื่นล้านบาท

สำหรับบริษัทที่เข้ายื่นข้อเสนอครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.กลุ่ม CKST-PL Joint Venture ประกอบด้วย บริษัท ช การช่าง จำกัด(มหาชน) หรือ CK และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STECON ยื่นข้อเสนอครบทั้ง 6 สัญญา, 2.กลุ่ม ITD-NWR LP MRT Joint Venture ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) หรือ ITD และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด(มหาชน) หรือ NWR ยื่นข้อเสนอเฉพาะสัญญาที่ 3, 3.บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ยื่นข้อเสนอในสัญญาที่ 1-2 และสัญญาที่ 4-6 และ 4.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ UNIQUE ยื่นข้อเสนอสัญญาที่ 3 และ 4

 

 

 

 

ทั้งนี้ด้านการจัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้า การเดินรถไฟฟ้า และการบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับงานโยธานั้น ขณะนี้ รฟม. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเร่งสรุปรายงานแนวทาง PPP คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ จากนั้นจะเสนอให้คณะทำงานตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ก่อนเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟม. และคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาภายในปี 65 ต่อไป
 

อย่างไรก็ตาม หาก ครม. เห็นชอบจะเข้าสู่ขั้นตอนการแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ เพื่อพิจารณาร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน(Request for Proposal Document : RFP) และเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคาต่อไป อย่างไรก็ตามสำหรับงานจัดหา และติดตั้งระบบรถไฟฟ้า วงเงินลงทุนประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 3 ปี โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ฯ ได้ทันตามแผนที่วางไว้ในปี 70