อีก2ปีข้างหน้าหรือปี 2567 การเดินทางขนส่งสินค้า การท่องเที่ยวระหว่างพรมแดนประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)จะมีศักยภาพมากขึ้น เนื่องจากกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ เร่งรัด ก่อสร้างโครงการ สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่5 หรือสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว (บึงกาฬ - บอลิคำไซ)
เพื่อสนับสนุนการเดินทางไปมาหาสู่กันได้สะดวกขึ้น ประหยัดเวลา ประหยัดต้นทุนหลังงาน ยังไม่รวมโครงข่ายถนนสายใหม่โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 212 สายอำเภอโพนพิสัย - บึงกาฬ ตอนตำบลหอคำ - บึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ หากก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้เส้นทาง ซึ่งจะนำไปสู่ความเคลื่อนไหวของราคาที่ดินการพัฒนาพื้นที่ตามการขยายตัวของเมือง ที่ล้อไปตามโครงข่าย
1.โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ) พร้อมโครงข่าย เป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ซึ่งดำเนินการโดย สำนักบริหารโครงการทางหลวงระหว่างประเทศกรมทางหลวง( ทล.) รวมระยะทาง 16.18 กิโลเมตร แบ่งเป็นถนนฝั่งไทย ระยะทาง 13 กิโลเมตร และถนนฝั่ง สปป.ลาว ระยะทาง 3.18 กิโลเมตร
การออกแบบโครงสร้างได้นำเสาหลักของสะพาน (Pylon) มาประยุกต์ระหว่างโครงสร้างกับ “แคน” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีท้องถิ่น เพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมของชุมชนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยรูปแบบการก่อสร้างเป็นสะพานคานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่องจราจร มีไหล่ทางพร้อมทางเท้า ช่วงข้ามแม่น้ำโขง ระยะทาง 810 เมตร และงานทางลาดลงจากตัวสะพาน ความยาวถนนฝั่งไทย 410 เมตร
ฝั่ง สปป.ลาว ความยาว 130 เมตร รวมความยาวสะพานทั้งหมด 1,350 เมตร มีด่านควบคุมทั้ง 2 ฝั่งประเทศ และมีจุดสลับทิศทางจราจรอยู่ในฝั่ง สปป.ลาว วงเงินก่อสร้าง 3,930 ล้านบาท ผลงานในภาพรวมของโครงการ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 มีความคืบหน้ารวม 36.704% เร็วกว่าแผน 0.643% คาดว่าจะเชื่อมต่อพื้นที่สะพานได้ประมาณกลางปี 2566 เปิดให้บริการได้ประมาณต้นปี 2567
ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างถนนฝั่งไทย ช่วง กม. ที่ 0+000 - 9+400 วงเงิน 831 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 16 ธันวาคม 2565 มีความคืบหน้า 50.903% เร็วกว่าแผน 1.378% คาดว่าจะแล้วเสร็จตามกำหนด
ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างถนนฝั่งไทยและด่านพรมแดนฝั่งไทย ช่วง กม. ที่ 9+400 - 12+082.930 วงเงิน 883 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 13 มีนาคม 2566 มีความคืบหน้า 41.366% ช้ากว่าแผน 2.733%
ส่วนที่ 3 งานสะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย รวมงานปรับปรุงสี่แยกทางหลวงหมายเลข 212 และลานอเนกประสงค์ใต้สะพาน แบ่งเป็น ฝั่งไทย ช่วง กม. ที่ 12+082.930 - 13+032.930 วงเงิน 787 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566
มีความคืบหน้า 18% ช้ากว่าแผน 2.77% และฝั่ง สปป.ลาว ระยะทาง 0.535 กิโมเมตร วงเงิน 379 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 3 มกราคม 2567 มีความคืบหน้า 25.21% เร็วกว่าแผน 8.11% ในส่วนของงานถนนและด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว มีความคืบหน้า 40.78% เร็วกว่าแผน 3.52%
2.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 212 สายอำเภอโพนพิสัย - บึงกาฬ ตอนตำบลหอคำ - บึงกาฬ ช่วง กม. ที่ 108+984.000 - 125+416.103 และ กม. ที่ 126+694.399 - 127+189.000 รวมระยะทางประมาณ 16.926 กิโลเมตร โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 2 ทล.
รูปแบบการก่อสร้างเป็นการขยายช่องจราจรจากเดิม 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร วงเงิน 631,541,500.00 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 930 วัน เริ่มต้นสัญญาตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 26 มกราคม 2566 โดยบริษัท พระนครศรีอยุธยาพาณิชย์และอุตสาหกรรม จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 โครงการมีความคืบหน้ารวม 46.150% เร็วกว่าแผนงาน 0.867%
เมื่อโครงการก่อสร้างทั้ง 2 โครงการแล้วเสร็จ จะช่วยเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยและ สปป.ลาว ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยทางหลวงหมายเลข 212 สายอำเภอโพนพิสัย - บึงกาฬ จะเป็นทางผ่านไปสู่สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ)
ทำให้เส้นทางดังกล่าวเป็นการคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว และภูมิภาคอาเซียนได้ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมถึงสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economics Community: AEC) นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในภูมิภาคอีกด้วย
สำหรับทั้ง2โครงการดังกล่าว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะลงพื้นที่พบปะประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็น ติดตามความก้าวหน้าโครงการเมื่อวันที่12 มีนาคม2565โดยกล่าวว่า
รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กระทรวงฯ น้อมรับนโยบายดังกล่าว และเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดบึงกาฬและจังหวัดใกล้เคียง
พื้นที่เชื่อมต่อไปยังสปป.ลาว จึงได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และกรมเจ้าท่า (จท.) ร่วมกันพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งเพื่ออำนวยความสะดวกของประชาชนในภูมิภาคให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทั้งการคมนาคมขนส่งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ