นายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ เปิดเผยว่า กรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กโลก และอุตสาหกรรมเหล็กไทยอย่างแน่นอนเนื่องจาก
รัสเซียและยูเครน มีปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กต่างๆไปทั่วโลกรวมกันประมาณ 58 ล้านตัน เป็นสัดส่วน 8%และ 4% ของปริมาณการส่งออกเหล็กของทั้งโลก
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ความขัดแย้งยืดเยื้อ จะส่งผลให้อุปทานของผลิตภัณฑ์เหล็กส่วนนี้หายไป หรือขาดแคลน จนผลักดันราคาผลิตภัณฑ์เหล็กในตลาดโลกให้ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงผลกระทบด้านราคาพลังงานซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิต และโลจิสติกส์
สำหรับในปี 2565 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ. ได้คาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการใช้จะปรับตัวขึ้นเป็น 19.6 ล้านตัน หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 5% จากปี 2564
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ
ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กในปี 2564 นั้น ความต้องการใช้สินค้าเหล็กทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2563 จาก 1,775.4 ล้านตันเพิ่มเป็น 1,855.4 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 4.5%
และคาดการณ์ว่าในปี 2565 ปริมาณการบริโภคเหล็กจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,896.4 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 2.2% โดยประเทศจีนยังคงเป็นประเทศที่มีการบริโภคเหล็กสูงสุดที่ 985.1 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปี 2564
ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยนั้น ในปี 2564 ความต้องการใช้สินค้าเหล็กของไทย 18.64 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12.8% จากปี 2563 โดยการนำเข้าสินค้าเหล็กขยายตัวถึง 19.1%
ในขณะที่มีการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศเพิ่มเพียง 5.6% และอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานเหล็กในประเทศไทย ยังคงอยู่ในระดับต่ำมากที่ 32.5%
นายนาวา กล่าวอีกว่า เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทยอย่างยั่งยืน ภาครัฐควรเร่งดำเนินการตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ซึ่งเป็นแผนที่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับกลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย
โดยมีสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยเป็นที่ปรึกษา ได้ยื่นต่อกระทรวงอุตสาหกรรม และได้มีการนำเสนอแผนต่อคณะทำงานศึกษาแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทยอย่างยั่งยืนเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา
รวมถึงแผนเร่งด่วนที่ควรเร่งดำเนินการ เช่น การควบคุมการตั้งโรงงานสินค้าเหล็กบางประเภท ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตล้นเหลือ (Overcapacity) และมีอัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization) ต่ำ
เช่นเดียวกับที่รัฐบาลได้ควบคุมห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต และขยายผลการส่งเสริมการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศในโครงการร่วมลงทุนภาครัฐเอกชน (PPP) ด้วย
นอกเหนือจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เนื่องจากโครงการ PPP มีมูลค่าการลงทุนที่สูงมาก โดยแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 - 2570 (แผนร่วมลงทุน) มีรายการโครงการที่ประสงค์จะร่วมลงทุนทั้งหมดรวม 110 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1.12 ล้านล้านบาท ซึ่งหากสามารถสนับสนุนให้ใช้สินค้าในประเทศได้จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างมหาศาล
ด้านการดำเนินธุรกิจของ เอสเอสไอในปี 2564 บริษัทมีปริมาณขายเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน 1.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 19% จากปี 2563 ซึ่งมากกว่าความต้องการใช้สินค้าเหล็กของประเทศที่เพิ่มขึ้น 12.8% โดยเป็นปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่มตลาด อย่างไรก็ตามในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าปริมาณขายที่ 1.39 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปี 2564
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้นได้มีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของทุกกลุ่มลูกค้า ในปี 2564 - 2565 บริษัทมีโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากกว่า 20 โครงการ อาทิ โครงการเหล็กสำหรับท่อโครงสร้างแข็งแรงสูง
โครงการเหล็กโครงสร้างสำหรับเชื่อมประกอบต้านทางการกัดกร่อน (Weathering Steel) โครงการพัฒนาเหล็กแรงดึงสูง (High Tensile Strength) เพื่อรองรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ต้องการใช้เหล็กน้ำหนักเบาและแข็งแรงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย