ครม.เคาะมาตรการสงกรานต์ ต่อ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” คุมโควิดครั้งที่17 ถึง 31พ.ค.65

22 มี.ค. 2565 | 11:49 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2565 | 16:49 น.

มติที่ประชุมครม.ล่าสุด เห็นขอบมาตรการสงกรานต์ และขยายเวลาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมสถานการณ์โควิดถึง 31พ.ค.65

วันที่ 22 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มติที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 17 ออกไปอีก  2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 และสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ตามที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เสนอ  


โดย เลขาธิการสมช. รายงานต่อครม.ว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 16) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 และสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2565 เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศ

 

การดำเนินการที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใกล้จะสิ้นสุดลง สมช. ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) ได้จัดการประชุมเพื่อประเมินความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม 2565 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล

และได้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ ศบค. ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม 2565 มีมติเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไปด้วยแล้ว โดยมีเหตุผลและความจำเป็นตามสรุปสาระสำคัญของการประชุมรายละเอียด ดังนี้

 

กรมควบคุมโรคได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด ดังนี้

  • สถานการณ์ในระดับโลก ยังคงพบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอนในหลายประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 17 มีนาคม 2565 ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ เยอรมณี เวียดนาม ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้น เนื่องจากหลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติมากขึ้น โดยหลายประเทศได้เน้นไปที่การมีมาตรการกระตุ้นให้ประชาชนฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้นเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงที่เกิดจากการติดเชื้อ และรณรงค์การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ
  • สถานการณ์กรระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ในประเทศเพื่อนบ้านแนวโน้มสถานการณ์ยังคงน่าห่วงกังวลและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเมียนมา เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลต่อสถานการณ์การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องอันจะเพิ่มความเสี่ยงของการนำพาโรคระบาดมากยิ่งขึ้น
  • สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ในประเทศไทย ระลอกเดือนกุมภาพันธ์ 2565-มีนาคม 2565 ปรากฏผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อกระจายทั่วประเทศ เนื่องจากรัฐบาลได้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาด เพื่อเป็นการทำให้เศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชนกลับคืนสู่สภาวะปกติ การกลับมาดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามปกติ อาทิ การทำงาน การเดินทางไปโรงเรียนการพบปะสังสรรค์ และการรวมกลุ่มทางสังคมอย่างเต็มรูปแบบเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคเป็นวงกว้างมากขึ้น

 

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดในห้วง 1-2 เดือนต่อจากนี้

 

เป็นช่วงที่ต้องมีการบูรณาการประสานการปฏิบัติทางด้านสาธารณสุขอย่างเต็มกำลังเพื่อรักษาขีดความสามารถทางด้านสาธารณสุข เนื่องจากในห้วงเดือนเมษายนเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและเดินทางไปท่องเที่ยวในหลายท้องที่ อาจจะก่อให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคไปในวงกว้างมากขึ้น

 

จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการบูรณาการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทางด้านสาธารณสุขที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ

 

มาตรการป้องกันโรคโควิด - 19 ในการจัดงานช่วงเทศกาลสงกรานต์

ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเฉพาะช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์ตามที่กรมควบคุมโรคเสนอ โดยมีมาตรการที่สำคัญ อาทิ 

  1. ให้ประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา และการเข้าร่วมงานเทศกาล กิจกรรมตามประเพณีจะต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และให้ประเมินความเสี่ยงของตนเอง หากพบว่ามีอาการหรือมีความเสี่ยง ให้หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมงาน หรือให้พิจารณาตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ ATK ก่อนเดินทางหรือก่อนร่วมงานภายใน 72 ชั่วโมง 
  2. ผู้จัดงานและกิจการ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสงกรานต์ให้ลงทะเบียนบนระบบ และประเมินตนเองตามประเภทมาตรการ COVID Free Setting การขออนุญาตจัดงานให้เป็นไปตามเขตพื้นที่สถานการณ์ หรือตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด และให้มีมาตรการในการควบคุมกำกับอย่างเข้มงวด              
  3. การกำหนดมาตรการสำหรับกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ในพื้นที่สาธารณะโดยห้ามเล่นน้ำ ประแป้ง หรือปาร์ตี้โฟม ในพื้นที่สาธารณะที่ไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน และการห้ามจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงานประเพณีสงกรานต์ที่ได้รับอนุญาต เป็นต้น

 

มติของที่ประชุม ที่ประชุมมีความเห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อไปอีกคราวหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการบูรณาการปฏิบัติงานและการดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

และให้การบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคมีความต่อเนื่อง จึงเห็นสมควรให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 17 เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565

 

จากนั้นวันที่ 23 มีนาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ 2 ฉบับ

โดยฉบับแรก เป็น ประกาศเรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ โดยเนื้อหาระบุว่า

 

ตามที่ได้มีประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ ๑๗) ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ นั้น

 

เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข ระงับยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘

 

คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้บรรดาประกาศที่คณะรัฐมนตรี กำหนดขึ้นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม
พ.ศ. ๒๕๖๓ และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๕/๒๕๖๓ เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

 

และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

ส่วนฉบับที่ 2 ประกาศเรื่อง การให้ข้อกำหนด ประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนด ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ โดยเนื้อหาระบุว่า

 

ตามที่ได้มีประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ ๑๗) ลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ นั้นเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข ระงับยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ มาตรา ๘ และมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘

 

นายกรัฐมนตรีจึงให้บรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดขึ้นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

 

และตามประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่านายกรัฐมนตรีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

โดยประกาศทั้ง 2 ฉบับ มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ลงนามโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี