นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายใต้การเปลี่ยนแปลงและความจำเป็นเร่งด่วนของสถานการณ์ปัจจุบัน ภาครัฐจึงต้องเร่งขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลในเชิงรุกมากขึ้น ตามแนวทางการพัฒนา 4 ประการ คือ
โดยส่งเสริมด้านเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ความปลอดภัย (Safety) และความยั่งยืน (Sustainability) เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งของยุทธศาสตร์อาเซียนในยุคหลังโควิด-19 (Covid-19)
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่กล่าวมา ทำให้ภาครัฐเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งรวมทั้งการให้บริการและกระบวนการทำงานให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อรองรับกับพฤติกรรมและสถานการณ์ในความต้องการรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ของประชาชน
และภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น จึงได้เกิด (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 ขึ้น โดยมุ่งหวังให้ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาครัฐได้ประโยชน์จากการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล บรรลุผลลัพธ์ในปี 2570
นายอนุชา กล่าวอีกว่า (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 นี้ นอกจากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน ส่งเสริมศักยภาพการให้บริการด้านการศึกษา การเกษตร การมีส่วนร่วม โปร่งใส และตรวจสอบได้ของประชาชน ยังมุ่งเน้นการให้บริการดิจิทัลที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทุกท้องถิ่นมากขึ้น
รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานภาครัฐด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาประเทศ ทั้งเทคโนโลยี AI, Blockchain ฯลฯ มาช่วยให้เกิดประโยชน์มหาศาลกับการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด ซึ่งการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมภาครัฐ The International Conference on Digital Government Technology and Innovation (DGTI-Con 2022) นับเป็นงานที่สำคัญ
และตอบวัตถุประสงค์ของแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยอย่างแท้จริง โดยจะได้เห็นผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งไทยและต่างประเทศ มานำเสนอในการประชุมนานาชาติครั้งนี้ด้วย
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA เปิดเผยว่า ในฐานะหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และมีหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการค้นคว้าและการวิจัยนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
โดยได้จัดตั้งศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐ ในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) ให้สามารถประยุกต์ใช้กับระบบการบริหารและการทำงานภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (productivity) ให้กับประชาชน เพื่อมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล
ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการศึกษา ในการนำ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาล วิเคราะห์ข้อมูล อันนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมต่างๆ เร็วกว่า และแม่นยำยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มหุ่นยนต์สนทนาอัตโนมัติ หรือ แชทบอท (Chatbot) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ถูกสร้างมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการช่วยถามตอบกึ่งอัตโนมัติแบบเรียนรู้เชิงบูรณาการระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ ที่สามารถสื่อสารผ่านข้อความได้แบบ Real Time
มีการพัฒนาระบบต้นแบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการตรวจสอบ (Artificial Intelligence for Performance Audit: AI for PA) เครื่องมือช่วยสืบค้นและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำรวดเร็วอันนำไปสู่ระบบนิเวศสำหรับนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ (GovTech) อย่างเป็นรูปธรรม และต้นแบบนวัตกรรมที่หลากหลายตามความต้องการของหน่วยงานรัฐ สำหรับงานบริการประชาชนให้ครอบคลุมในมิติต่าง ๆ มากขึ้น
นอกจากนี้ มีการพัฒนาระบบ Auto Tag และโปรแกรมจำเสียงอัตโนมัติ (Automatic Speech Recognition หรือ ASR) ที่นำเอานวัตกรรมเทคโนโลยี Big Data Analytics ผนวกกับเทคโนโลยีเครื่องจักรเรียนรู้ (machine learning) เพื่อพัฒนาต้นแบบระบบที่สามารถอำนวยความสะดวกในการจัดหมวดหมู่ ข้อความเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐแบบได้อย่างอัตโนมัติแบบ Real-time รวมทั้งการจัดทำหนังสือ Digital innovation in Local Government ที่เป็นเหมือนไกด์ไลน์ในการเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล อีกด้วย
สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ เป็นเวทีสากลในการนำเสนอผลงานวิชาการและผลงานวิจัย ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างนักวิจัยในประเทศและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นผลงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีเพื่อสาธารณะประโยชน์ (Technology for Public Sector)
,การเกษตรและความยั่งยืน (Agricultural and Sustainability) การบริการและสวัสดิการสังคม (Services and Welfare) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium-sized Enterprises SME) และการศึกษายุคดิจิทัล (Smart Education)
โดยมีงานวิจัยที่ส่งเข้าร่วมงานทั้งหมด จำนวน 73 ผลงาน อาทิ ประเทศไทย บราซิล ญี่ปุ่น อินเดีย เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นการนำเสนอในหัวข้อ E-Government , Innovations & Technology for Public Sector และ Education & Other ทั้งหมดนี้ เพื่อผลักดันให้เกิดการต่อยอดผลงานวิจัย และนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในงานบริการของภาครัฐ โดยมีเป้าหมายในการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพครบวงจร และรวดเร็วยิ่งขึ้น
ผลงานวิจัยหรือบทความวิชาการ จำนวน 26 ผลงาน ที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จะถูกนำเสนอในการประชุมนานาชาติ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมภาครัฐ The International Conference on Digital Government Technology and Innovation (DGTI-Con 2022) ครั้งนี้
และนำไปเผยแพร่ลงในฐานข้อมูลนานาชาติของ Institute of Electrical and Electronics Engineers (IEEE) รวมทั้งผลงานที่ผ่านการคัดเลือกบางส่วนจะได้รับโอกาสในการเผยแพร่และตีพิมพ์ใน Journal of Intelligent Informatics and Smart Technology อีกด้วย โดยงานครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม 2565