นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ (เฉพาะกิจ) เผย (27 มี.ค.) ว่า ได้ขนส่งทุเรียน 2 ตู้คอนเทนเนอร์และมะพร้าวจำนวน 6 ตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟจากจังหวัดระยองในภาคตะวันออกไปยังสถานีรถไฟหนองคายเพื่อตรวจและออกใบรับรองตรวจโรคพืชไฟโตที่ด่านหนองคายตามพิธีสารผลไม้ไทย-จีน
จากนั้นขบวนรถไฟจะขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวข้ามแม่น้ำโขงไปยังท่าบกท่านาแล้งของ สปป.ลาวก่อนยกขึ้นหัวลากจากท่านาแล้ง 2.9 กม. ไปขึ้นรถไฟลาว-จีนที่สถานีเวียงจันทน์ก่อนขนส่งไปสถานีรถไฟนาเตยแล้วยกขึ้นรถหัวลากเดินทางไปด่านบ่อเตนของลาวข้ามพรมแดนลาว-จีนไปตรวจปล่อยที่ด่านมฮ่านในมณฑลยูนนานของจีน
ทั้งนี้ถือเป็นระบบการขนส่งหลายรูปแบบ Multi Modal Transportation ที่เริ่มดำเนินการเป็นครั้งแรกเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีที่ยังไม่สามารถขนส่งผลไม้ทางรถไฟจากลาวข้ามแดนไปด่านรถไฟโมฮ่านโดยตรงเนื่องจากจีนกำลังก่อสร้างอาคารและลานตรวจโรคพืชที่ด่านรถไฟโมฮ่านจึงต้องไปใช้การตรวจโรคพืชที่ด่านโมฮ่านซึ่งเป็นด่านใหญ่ด่านเดิมไปพรางก่อน
นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการส่งออกขนุนจากภาคใต้ ต่อด้วยผลไม้เช่นลำไยจากภาคเหนือหลังจากเริ่มการขนส่งผลไม้จากภาคตะวันออก โดยหวังว่าจะผ่านไปด้วยดีโดยตนจะติดตามทุกขั้นตอนจนกว่าทุเรียนและมะพร้าวจะถึงกวางโจว
ทั้งนี้รัฐมนตรีเกษตรฯ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนได้มอบนโยบายในตนในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้หรือฟรุ้ทบอร์ด ประชุมทางไกลกับผู้ประกอบการจีน-ไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่องการทดสอบทดลองใช้ระบบขนส่งผสมผสานทางรางทางรถ จะดูทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งผลไม้จากไทยไปจีนและปัญหาข้อขัดข้องที่ต้องปรับปรุงแก้ไขโดยมีบริษัทผู้ส่งออกผลไม้และบริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระบบ Cold Chainได้รับอนุญาตให้ร่วมในการทดสอบครั้งนี้
“มีหลายบริษัทที่ทางการจีนได้อนุมัติให้ดำเนินการทดสอบทดลองซึ่งต้องขอบคุณกระทรวง GACC และทางการยูนนาน สถาบันโลจิสติกส์คุนหมิงและสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยตลอดจนภาคเอกชนของ 3 ประเทศและฟรุ้ทบอร์ดที่ร่วมมือกันส่งเสริมการค้าการส่งออกทุเรียนมะพร้าวและผลไม้อื่น ๆ ภายใต้พิธีสารแม้จะมีปัญหาอุปสรรคนานัปการซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-ลาว-จีน” นายอลงกรณ์ กล่าว