นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ขนส่งสินค้าประเภททุเรียน 2 ตู้คอนเทรนเนอร์ จำนวน 40 ตัน และมะพร้าว 1 ตู้คอนเทรนเนอร์ จำนวน 20 ตัน ซึ่งเป็นของ บริษัทเก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต จำกัด จากสถานีรถไฟมาบตาพุด ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ปลายทางประเทศจีน ว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูผลไม้ซึ่งประเทศไทยมีตลาดใหญ่ที่ประเทศจีน โดยการขนส่งประเภทผลไม้ไปจีนมีหลายช่องทาง ทั้งทางอากาศ ทางเรือ และทางบก โดยการขนส่งทางรางถือเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งภาคเอกชน ได้ส่งเสริมให้ส่งสิงค้าไปยังจีนให้ได้มากที่สุด และบริษัท เก้าเจริญฯ ได้บุกเบิกมาพักหนึ่งแล้ว ซึ่งการส่งสินค้าทางรางเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ค้าผลไม้ได้มีช่องทางพิเศษไปยังประเทศจีน ที่จะเป็นผลดีกับเกษตรกรชาวสวนผลไม้ภาคตะวันออก
นายปุรเชรษฐ์ ปะพุธสะโร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าคอนเทรนเนอร์ระบบราง มาตั้งแต่ปี 2562 และในปี 2564 ยังได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้ขอถ่ายลำและผู้ขอผ่านแดนทางรถไฟจากกรมศุลกากร และการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเริ่มให้บริการขนส่งสินค้าผ่านแดนทางรถไฟตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564 และได้ขนส่งตู้สินค้าจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไปยัง สปป.ลาว ขณะที่การส่งสินค้าประเภทผลไม้ทุเรียนและมะพร้าวไปยังประเทศจีน ได้ใช้เส้นทางจาก จ.ระยองยังสถานีหนองคาย เพื่อส่งสินค้าข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ก่อนเดินทางต่อไปยังประเทศจีน
นายปัญญา ปะพุธสะโร ประธานกรรมการ บริษัทเก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต จำกัด กล่าวว่า ขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ดังกล่าวเป็นขบวนนำร่องส่งสินค้าประเภทผลไม้ไปจีน และได้ผ่านมาตรการตรวจสอบหาเชื้อโควิด-19 ตามมาตรฐานของจีน ขณะเดียวกันการขนส่งทางรถไฟจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งและยังใช้เวลาเร็วกว่าขนส่งทางถนน และทางเรือ อีกทั้งยังช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และลดมลพิษ รวมทั้งอุบัติเหตุทางถนน นอกจากนั้นยังช่วยระบายผลผลิตทางการเกษตร แก้ปัญหาผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออกล้นตลาด
"บริษัทฯ มีแผนที่จะส่งทุเรียนและผลไม้อื่นๆ ของภาคตะวันออกไปยังประเทศจีนอีกกว่า 50 ตู้คอนเทรนเนอร์ ในช่วงฤดูผลไม้ออกสู่ตลาดที่จะถึงนี้ด้วยเช่นกัน"