นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับ บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP),บริษัท เซอร์ทิส จำกัด และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือกฟภ. (PEA) พัฒนาระบบ Peer-to-Peer Energy Trading Platform
ผ่านเทคโนโลยี Blockchain การซื้อขายไฟฟ้าครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้ชื่อว่า RENEX เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในการทำธุรกรรมและอำนวยความสะดวกการซื้อขายพลังงานให้กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยกับผู้ใช้พลังงาน
ทั้งนี้ ระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในกลุ่มธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตที่เป็นเป้าหมายสำคัญของ ปตท. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพลังงาน
และยกระดับนวัตกรรมพลังงานยั่งยืนของประเทศ ตามกรอบวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต การพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงาน
ทั้งในส่วนการนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วยด้านการซื้อขายพลังงาน ตลอดจนนำเสนอนวัตกรรมด้านพลังงานเพื่อรองรับความต้องการใช้เชื้อเพลิงรูปแบบใหม่ ทั้งหมดนี้เพื่อรองรับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนในอนาคต และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานพลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ
ตลอดจนยกระดับสินค้าบริการที่มีคุณภาพระดับสากล เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมและผู้รับบริการได้อย่างครบวงจร ควบคู่กับการขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ความร่วมมือกับพันธมิตรในครั้งนี้ จึงเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมพลังงานของประเทศให้มีความพร้อมและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นสู่การพัฒนาต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนในการผลิตพลังงานในอนาคตต่อไป
ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHAUP กล่าวว่า จากความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และการพัฒนานวัตถกรรมด้านพลังงาน บริษัทฯ ได้เดินหน้าลงทุนในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะ หรือ Smart Energy เพื่อซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในกลุ่มลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ
จึงนำมาสู่การพัฒนาระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer Energy Trading โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ERC Sandbox หรือ โครงการทดลองด้านนวัตกรรมพลังงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
จากความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ และพันธมิตรชั้นนำด้านพลังงานและด้านเทคโนโลยี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถประมูลซื้อหรือขายไฟฟ้าจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างกันเองได้อย่างเสรีผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้า
โดยปัจจุบันได้เริ่มการทดสอบการซื้อขายไฟฟ้า และมีผู้ประกอบการชั้นนำในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ เข้าร่วมโครงการ RENEX นี้ จำนวนมากถึง 23 บริษัท ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการให้บริการซื้อขายเชิงพาณิชย์ หลังจากภาครัฐอนุมัติเรียบร้อยแล้ว
นายธัชกรณ์ วชิรมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เซอร์ทิส จำกัด กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) มาใช้เป็นพื้นฐานของแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มุ่งหวังที่จะสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายที่ใช้แพลตฟอร์ม ทั้งในส่วนของการใช้งาน ผู้ซื้อพลังงาน (buyer) และผู้ขายพลังงาน (seller)
จะสามารถทำการซื้อ-ขายพลังงานแสงอาทิตย์ในราคาและปริมาณที่ต้องการบนแพลตฟอร์มที่มีความเสถียรปลอดภัย ผ่านระบบการจับคู่และประมูลราคาที่คิดค้นร่วมกันกับ ปตท. จนได้รับการรับรองด้วยอนุสิทธิบัตร วิธีการซื้อขายไฟฟ้าโดยมีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หรือ Smart Energy Platform จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ และในส่วนของเซอร์ทิสเอง ในฐานะผู้ดูแลระบบ (platform operator) เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบให้มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือและตรวจสอบข้อมูลได้ และในอนาคตเราจะนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ มาใช้ในการพัฒนาระบบให้ตอบโจทย์ต่อรูปแบบการใช้งานและความต้องการของผู้ใช้งานให้เหมาะสมและดียิ่งขึ้น
“โครงการดังกล่าวนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ศักยภาพของเทคโนโลยี ประกอบกับความสามารถของบุคลากรในการพัฒนาแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนการดำเนินงานของอุตสาหกรรมการซื้อขายพลังงานสะอาด เชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้ารายย่อยได้เติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคงทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคต่อไปในอนาคต”
สำหรับการซื้อขายไฟฟ้าอย่างเสรีด้วยเทคโนโลยี Blockchain นี้ นับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับภาคอุตสาหกรรม แต่วันนี้กำลังจะเกิดขึ้นได้จริงแล้วในประเทศไทย ที่นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอเป็นแห่งแรก โดยจะมีผู้ประกอบการกลุ่มแรกที่เข้าร่วมเป็น Clean Energy Trader จำนวน 23 บริษัท
และโครงการนี้เมื่อดำเนินการเป็นผลสำเร็จ จะเป็นการเลื่อนระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานของไทย ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานสำหรับภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมนวัตกรรมด้านพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย