สรท.-พาณิชย์จัดทัพ 30 บริษัท ลุยขยายการค้า‘ไทย-ซาอุฯ’ ฝ่าวิกฤติยูเครน

02 เม.ย. 2565 | 08:01 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2565 | 14:49 น.

สรท.ผนึกกระทรวงพาณิชย์ จัดทัพ 30 บริษัทลุยขยายการค้าไทย-ซาอุฯ รับเปิดศักราชใหม่ มิ.ย.นี้ สร้างโอกาสส่งออกสินค้าไทยเพิ่ม สู้ศึกวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนยังยื้อ เผย 5 กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารยังไปได้ต่อ รถยนต์น่าห่วง เป้าส่งออกทั้งปี 1 ล้านคันส่อวืด

 

ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบียที่ฟื้นกลับคืนมาในรอบ 32 ปี ส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย ล่าสุดไทยได้ลงนามเอ็มโอยูเตรียมส่งออกแรงงานไทยไปทำงานในซาอุฯครั้งแรกแบบมีกฎหมายคุ้มครอง ขณะที่ภาคการค้า วันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ตัดริบบิ้นร่วมกับผู้บริหารของซีพีเอฟ ในการส่งออกไก่แปรรูปตู้ปฐมฤกษ์ไปซาอุฯ หลังขาดโอกาสส่งออกมา 18 ปี ขณะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงมากสุดที่ส่งผลกระทบการส่งออกไทยอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้นภาครัฐ-เอกชนต่างทุ่มสรรพกำลังอย่างเต็มที่เพื่อพลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาส

 

สรท.-พาณิชย์จัดทัพ 30 บริษัท ลุยขยายการค้า‘ไทย-ซาอุฯ’ ฝ่าวิกฤติยูเครน

 

ชัยชาญ  เจริญสุข

 

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแหงประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทาง สรท.ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เตรียมจัดคณะผู้แทนการค้าเดินทางเยือนซาอุฯช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ โดยจะมีผู้บริหารของบริษัทส่งออกเข้าร่วมประมาณ 30 บริษัท ในหลากหลายกลุ่มสินค้า อาทิ อาหาร สินค้าอุปโภค-บริโภค ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเจรจาการค้า และทำบิซิเนส แมชชิ่งกับผู้นำเข้าของซาอุฯ เพื่อขยายการค้าของทั้งสองฝ่ายให้มากขึ้น

 

 ประธาน สรท.กล่าวอีกว่า คาดการณ์ส่งออกไทยไตรมาสแรกปี 2565 จะขยายตัวได้ประมาณ 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะยังมีแรงส่งจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ก่อนรัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครน (เมื่อ 24 ก.พ.65) ที่ต้องเร่งส่งมอบสินค้า ซึ่งแม้การส่งออกเดือน ม.ค.จะขยายตัวได้ 8% และเดือน ก.พ.ขยายตัว 16% แต่เดือนมี.ค.คาดจะขยายตัวลดลงไม่ถึงตัวเลขสองหลัก จากฐานส่งออกเดือนมี.ค.64 สูง

 

ขณะที่เวลานี้การส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว จากผลพวงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กระทบต่อเศรษฐกิจ การค้าโลก ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการปรับตัวสูงขึ้นจากวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงผลพวงจากสงคราม เช่น วัตถุดิบอาหาร อาหารสัตว์ ปุ๋ย เหล็ก แร่หายาก รวมถึงราคาน้ำมัน ค่าระวางเรือส่งผลเวลานี้ผู้ส่งออกเริ่มปรับขึ้นราคาสินค้าแล้ว 5-10% ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคของประเทศปลายทางเริ่มลดลง จากราคาสินค้า และเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลก สร้างความกังวลใจผู้ส่งออกไทยในทุกกลุ่มสินค้าหากสถานการณ์ยืดเยื้อจะกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้าโลกในครึ่งปีหลังชะลอตัวลงมากขึ้น ล่าสุดทาง สรท.ได้ปรับลดคาดการณ์ส่งออกทั้งปีนี้ลงเหลือไม่เกิน 5% จากต้นปีคาดการณ์ไว้ที่ 5-8%

 

“อย่างไรก็ดีจากการหารือร่วมกับผู้บริหารของสมาคมหรือกลุ่มสินค้าส่งออกหลักของไทยล่าสุด พบว่ามีหลายสินค้าที่พบว่า ยังมีแรงขับเคลื่อนไปได้ในช่วงวิกฤตินี้ จากยังเป็นที่ต้องการของตลาด ได้แก่ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง อาหาร ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาล ข้าว ส่วนสินค้ากลุ่มกลางๆ ที่ยังพอไปได้ไม่หวือหวา เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนที่น่าห่วงคือรถยนต์ จากความต้องการของตลาดชะลอตัว และการขาดแคลนไมโครชิพที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิต”

 

สอดคล้องกับนายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่กล่าวว่า ในเดือน มิ.ย.นี้ กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนจะจัดคณะเดินทางไปซาอุฯเพื่อเจรจาขายสินค้า ใน 3 เมืองหลัก คือ เจดดาห์ ริยาด และดัมมัม สินค้าเป้าหมาย ได้แก่ ยานยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร เสื้อผ้า และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ นอกจากนี้มีแผนจะฟื้นคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-ซาอุฯ ขึ้นมาอีกครั้ง

 

จุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ไทยส่งออกรถยนต์ได้ 149,284 คัน ลดลง 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยสำคัญจากการขาด แคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ไมโครชิพ) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์ ทำให้ผลิตและส่งออกได้ลดลง

 

“ไมโครชิพส่วนใหญ่ไทยนำเข้าจากมาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น และยุโรปบางส่วน ซึ่งเดิมก็ขาดแคลนมาตั้งแต่ปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้ เพราะโควิดทำให้คนต้อง work from home เด็กต้องเรียนทางออนไลน์ คนทำงานก็ประชุมทางไกลมากขึ้น ซึ่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ล้วนมีชิพเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น การที่โรงงานจะหันมาผลิตชิพป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์ก็ทำได้ไม่ทัน”

 

ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งจะทำให้แร่ธาตุต่าง ๆ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไมโครชิพยิ่งขาดแคลน เพราะรัสเซียเป็นผู้ส่งออกแร่ธาตุหายากต่าง ๆ รายสำคัญของโลกที่ตอนนี้ระงับการส่งออก คาดครึ่งแรกปีนี้การส่งออกรถยนต์ยังคงติดลบ ส่วนเป้าหมายส่งออกทั้งปี 1 ล้านคันจะทำได้หรือไม่ ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูด จากยังไม่รู้ว่าสงครามจะยืดเยื้อแค่ไหน เพราะมีผลต่อเศรษฐกิจ การค้าโลก ขณะที่เวลานี้ราคาสินค้าทั่วโลกแพงขึ้น สวนทางรายได้คนลดลงเป็นอีกตัวแปรสำคัญ

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3771 วันที่ 3 – 6 เมษายน 2565