นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายการเงินการคลังกับการขับเคลื่อน เศรษฐกิจไทยปี 65” ในงานประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 27 สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) โดยกล่าวว่า ยังเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทย ในปี 65 จะขยายตัวได้ในกรอบที่ตั้งไว้ที่ 3.5% - 4.5% และเชื่อว่าหากรัฐบาลและภาคเอกชนร่วมมือกันจะทำให้เพิ่มอัตราการเติบโตได้อีกอย่างน้อย 0.1% - 0.3%
ทั้งนี้ อุปสรรคที่เกิดขึ้นกับผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ ขณะนี้คือ ค่าระวางเรือ และ ค่าตู้คอนเทนเนอร์ ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากสามารถลดต้นทุนส่วนนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ประกอบการมีปริมาณคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งส่งผลดีทำให้การส่งออกในภาพรวมขยายตัวได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะเรื่องของการเข้าถึงสภาพคล่อง ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ซึ่งได้มอบหมายให้แบงก์รัฐได้เข้าไปช่วยเหลือแล้ว รวมทั้งยังได้กำชับไปยังกรมสรรพากร ถึงการเร่ดรัด การคืนภาษี ที่ยังมีความล่าช้า ให้รวดเร็วขึ้น
“หากภาครัฐช่วยลดอุปสรรคของผู้ส่งออกได้ และช่วยเพิ่มความสะดวกในเรื่องของโลจิสติกส์ และสภาพคล่อง ก็จะทำให้ การส่งออก ทั้งปี 2565 ขยายตัวได้ถึง 10% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็อยากให้ภาคเอกชนและภาครัฐร่วมมือกันเบ่ง หรือเพิ่มอัตราการเติบโต เพื่อทำให้การส่งออกทั้งปี 65 โตถึง 10% เพื่อสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับนักวิเคราะห์จากภาคสถาบันการเงินที่มองว่าส่งออกไทยปีนี้จะเติบโตแค่ 5%” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวอีกว่า ภาคการส่งออกเป็นเครื่องยนต์หลักที่สำคัญ เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยว ที่ทั้งปีได้ตั้งเป้ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ 7 ล้านคน
แต่อย่างไรก็ตาม ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยแล้วเพียง 4 แสนคน ดังนั้นถ้าหากตัวเลขอยู่ในระดับนี้ ทั้งปีจะได้ 1.6 ล้านคน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
ซึ่งนโยบายของรัฐบาลหลังจากนี้ เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ก็จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น แม้หลายประเทศยังคงจำกัดเรื่องของการเดินทาง แต่ขณะนี้ทางฝั่งยุโรปก็ได้ผ่อนปรนในเรื่องของการเดินทางมากขึ้นแล้ว
ขณะที่รายได้ของประเทศ ตัวถัดมา คือ จากภาครัฐ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ งบลงทุน โดยเฉพาะของรัฐวิสาหกิจเองก็ทำได้ดี เมื่อเทียบกับปี 64
ส่วนการลงทุนของภาคเอกชน แม้หลายส่วนจะมองว่า การลงทุนของภาคเอกชนจะมีการชะลอลง เนื่องจากความไม่มั่นใจสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ในช่วงปี 64 ที่ผ่านมา ภาคเอกชนก็ได้มีการระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจหรือลงทุนใหม่แล้ว ผ่านการออกหุ้นกู้ เป็นต้น
นายอาคม กล่าวว่า ดังนั้นหากมองในแง่ของปริมาณ หรือ ตัวเลขจีดีพี ในปี 65 ไม่น่าจะมีปัญหา แต่อาจมีปัญหาในเชิงราคา จากราคาพลังงาน ต้นทุนวัตถุที่ปรับเพิ่มขึ้น
โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติมาตรการช่วยค่าครองชีพของประชาชนแล้วเป็นเวลา 3 เดือน แต่ทั้งนี้ยังต้องดูในส่วนของราคาสินค้า ว่า กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปกำกับและควบคุมราคาสินค้าไม่ให้เพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน
ขณะที่เสถียรภาพทางด้านราคา หรือ เงินเฟ้อนั้น กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ตั้งเป้าหมายกรอบเงินเฟ้อปี 65 ไว้ที่ 1% - 3% ซึ่งจากปัจจัยภายนอกที่มากระทบทำให้เงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น ยอมรับว่าเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
แต่อย่างไรก็ตามภาคเอกชนก็ได้มองว่าอัตรา เงินเฟ้อ ของไทยจะไม่สูงมาก และยังไม่ได้รับผลกระทบ ยกเว้นหากราคาน้ำมันดิบดูไบมีการปรับราคาขึ้นไปสูงถึง 150 เหรียญฯ/บาเรล ซึ่งยังไม่มีมุมมองว่าจะขึ้นไปถึงระดับนั้นได้