เมื่อวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2565 ที่ห้องลานนา บอลรูม 2 และ 3 โรงแรม แชงกรี-ล่า เชียงใหม่ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ จัดการประชุมใหญ่สามัญสมาชิกหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2565 โดยมี นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน
นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยหลังการประชุม ว่าการประชุมครั้งนี้เป็นไปตามข้อบังคับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องมีการประชุมใหญ่สมาชิกประจำปี ภายใน 90 วันนับแต่วันสิ้นปี เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของสมาชิก และเพื่อให้หอการค้าเชียงใหม่เป็นองค์กรภาคเอกชนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดและของประเทศโดยส่วนรวมต่อไป
โดยการประชุมครั้งนี้มีการพิจารณาเรื่องการปรับปรุงหอการค้าเชียงใหม่ให้ทันสมัยขึ้น ทั้งการพิจารณาแก้ไขข้อบังคับ การปรับเปลี่ยนโลโก้ของหอการค้าเชียงใหม่ที่ใช้มายาวนาน มาก เพื่อให้เหมาะกับยุคสมัยที่เราขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ และเรื่องของนวัตกรรม ให้องค์กรเข้มแข็งทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สร้างหอการค้าฯ ให้เป็นองค์กรตัวอย่างที่ดี
ประธานหอการค้าเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า จากนี้เศรษฐกิจจะเริ่มขับเคลื่อนได้มากขึ้น จากการปลดล็อกมาตรการคุมโควิด-19 ที่กำลังจะเป็นโรคประจำถิ่น แต่คงใช้เวลาอีกไม่น้อย เพราะเราติดหล่มมา 2 ปีเต็ม ประกอบกับเพื่อนบ้านและโลกมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ นํ้ามันแพง ค่าครองชีพเพิ่มตลอดเวลา สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็กระทบมาถึงเรา ทั้งเรื่องนํ้ามันหรือปุ๋ย
“หอการค้าเองก็มองว่า จากนี้ไปการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเดิมๆ คงจะยากมากขึ้น เราจึงพยายามผลักดันให้โปรโมทเรื่อง NEC Valley ให้จังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง ได้รับประโยชน์จากการขอ BOI เพื่ออุตสาหกรรมดิจิตอล”
เนื่องจากเชียงใหม่มีศักยภาพ ทั้งจากมีสถาบันการศึกษาระดับสูงในพื้นที่ มีกลุ่มดิจิทัล นอร์แมด ฝังตัวอยู่ในจังหวัดนับ 10,000 ราย ขณะที่มีค่าครองชีพตํ่า มีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่เป็นเอกลักษณ์ ได้รับการจัดอันดับเป็น “เวิร์คเคชั่น” หรือเมืองที่เหมาะแก่การมาพักทำงาน เป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยแพ้กรุงเทพฯ แค่ระบบขนส่งมวลชน ที่เวลานี้เชียงใหม่ยังไม่มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
ประธานหอฯเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ฉะนั้นเราต้อง การที่จะส่งเสริมธุรกิจที่เป็น New S-Curve ในเรื่องของดิจิทัลในพื้นที่ ถ้ายิ่งสามารถผลักดันให้เป็นนโยบายของจังหวัด และสามารถได้รับการส่งเสริมเรื่องของ BOI ได้รับลดหย่อนภาษีสำหรับดิจิทัล ก็จะเป็นการสร้างเม็ดเงินในพื้นที่ และเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาวได้
ส่วนภาคธุรกิจท่องเที่ยวนั้น จากนี้ไปแม้จะกลับมาก็ไม่เหมือนเดิม นักท่องเที่ยวจีนเองก็คงจะยังไม่ได้ออกมาอีกนาน เพราะจีนเองต้องการให้โควิดเป็นศูนย์ และเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในช่วงชะลอตัวเหมือนกัน คงจะขับเคลื่อนให้เที่ยวในประเทศเป็นหลัก
เพราะฉะนั้นสิ่งที่หอการค้าเชียงใหม่ต้องการขับเคลื่อนในอนาคตสำหรับภาคการท่องเที่ยว ก็คือเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ “เวลเนส ทัวริสซึ่ม” การท่องเที่ยวของผู้สูงอายุ ที่กลายเป็นกลุ่มมีกำลังซื้อสูง รวมทั้งปัจจุบันมีอายุน้อยลงจากการเกษียณก่อนกำหนด (เออร์ลี่ รีไทร์)
พฤติกรรมคนเปลี่ยนเป็นเที่ยวตอนที่ยังมีกำลังและมีเงิน กลุ่มนี้จะสร้างรายได้ให้เชียงใหม่เพิ่มขึ้น โดยในเรื่องของ Wellness ทางภาคการศึกษา อย่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สร้างศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลัง เพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่จะมาฝั่งตัวอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่
ด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกนั้น ประธานหอฯเชียงใหม่กล่าวว่า ในช่วงการระบาดโควิด-19 ขับเคลื่อนร่วมกับทางจังหวัดและหน่วยราชการ จัดอบรมเพื่อปรับยกทักษะให้สมาชิก กรรมการหอฯรุ่นใหม่ส่งเสริมสมาชิกเรื่องการดูงบการเงิน การนำดิจิทัลมาใช้ในการทำงาน ทำตลาด ลดต้นทุนธุรกิจ และช่วงจากนี้ไปคงได้ขับเคลื่อนร่วมกับอบจ.เชียงใหม่ ที่ต้องการขับเคลื่อนเอกชนให้มีองค์ ความรู้ ใช้นวัตกรรมสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่นกัน
ส่วนปัจจัยด้านเศรษฐกิจระยะสั้น เช่น การปรับค่าแรงขั้นตํ่าให้กลุ่มลูกจ้าง ประธานหอการค้าเชียงใหม่ ชี้ว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าไม่ปรับผู้ใช้แรงงานก็อยู่ไม่ด้ การจับจ่ายใช้สอยลดลง แต่ถ้าปรับสูงเกินไปกลุ่มธุรกิจก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน ต้องให้สมดุลจึงต้องรัดกุม อีกทั้งหากมีการปรับขึ้นต้องยกระดับทักษะแรงงานควบคู่กันไปด้วย
“รวมทั้งฝากภาครัฐพิจารณา เรื่องมาตรการในการลดต้นทุนกับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าไฟฟ้า ภาษี ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ 2-3 ปีนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเม็ดเงินเข้ามาในองค์กรบ้าง เพื่อให้จ้างงานได้เพิ่มขึ้น จากทุกวันนี้มีต้นทุนแฝง ไม่ว่าจะเป็นค่าชุดตรวจ ATK ค่าหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ที่ต้องจัดหาให้พนักงาน ที่ค่อนข้างสูง โดยกิจการไหนที่ดูแลพนักงานดี ก็เปิดให้นำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น”
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,771 วันที่ 3-6 เมษายน พ.ศ. 2565