นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3901 และ 3902 สายทางคู่ขนานวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) งบประมาณ 7,376.59 ล้านบาท ปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ 78 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มกราคม ปี 2566 ที่ผ่านมากรมฯได้มีการออกแบบก่อสร้างทางคู่ขนาน 3 ช่องจราจร เพื่อให้สามารถรองรับกับปริมาณจราจรในอนาคต ซึ่งได้ทำการออกแบบให้สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศและเขตทางหลวงที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การบริการทาง และพัฒนาส่งเสริมโครงข่ายถนนด้านทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ลดปัญหาการจราจรในพื้นที่ เชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย M6 บางปะอิน – นครราชสีมา และ M81 บางใหญ่ – กาญจนบุรี ต่อลงภาคใต้ และโครงข่ายอื่นๆ ในอนาคต เพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งของประเทศที่ปัจจุบันมีปริมาณจราจรสูง โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทและแผนดำเนินการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของกรมทางหลวง
สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3901 และ 3902 สายทางคู่ขนานวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) แบ่งการก่อสร้างเป็น 8 ตอน ฝั่งซ้าย 4 ตอน และฝั่งขวา 4 ตอน มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางบัวทองไปสิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับบางปะอิน ระหว่าง กม.59+988 - กม.86+559 ระยะทางยาวประมาณ 35.57 กิโลเมตร แล้วเสร็จจำนวน 1 ตอน ได้แก่ ตอน 1 ด้านขวาทาง บริเวณ กม.62 – กม. 73
ลักษณะโครงการก่อสร้างเป็นงานก่อสร้างทางคู่ขนาน เป็นการก่อสร้างขยายช่องจราจร จากเดิม 2 ช่องจราจร มาตรฐานทางชั้นพิเศษ ขนาด 3 ช่องจราจร ผิวจราจรแบบคอนกรีต กว้างช่องจราจรละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 1.5 – 2.5 เมตร ด้านในกว้าง 1.5 เมตร กั้นขอบทางด้านในด้วยคอนกรีตแบริออร์ กว้าง 0.45 เมตร ผิวทางแบบคอนกรีต งานก่อสร้างสะพานใหม่ จำนวน 7 แห่ง และขยายความกว้างสะพานเดิม จำนวน 1 แห่ง พร้อมทั้งออกแบบระบบระบายน้ำและการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้เมื่อโครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้เกิดวามสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทางทำให้โครงข่ายทางหลวงและทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดการเกิดอุบัติเหตุบนถนน ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ลดการสิ้นเปลืองพลังงานจากการจราจรติดขัดที่ทำให้ต้นทุนการขนส่งของประเทศลดลง ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของจังหวัดใกล้เคียง เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานครให้มีเพิ่มมากยิ่งขึ้น และเป็นการพัฒนาและปรับปรุงทัศนียภาพสองข้างทางให้ดูเรียบร้อยสวยงาม อีกทั้งยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคให้ดีขึ้น