YSS รุกหนัก ตลาดโช้คอัพ ลุยแผนเจาะรถอีวี-ระดมทุน SET

09 เม.ย. 2565 | 21:11 น.
อัปเดตล่าสุด :09 เม.ย. 2565 | 22:48 น.

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงอีกครั้ง หลายธุรกิจต้องปิดกิจการ  เนื่องจากไม่สามารถสร้างรายได้มาเติมสภาพคล่องให้กับธุรกิจได้

แต่ไม่ใช่สำหรับ บริษัท วาย.เอส.เอส. (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายโช้คอัพแบรนด์ YSS ภายใต้การนำของ “ภิญโญ  พานิชเกษม”  ประธานกรรมการบริหาร ที่ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกลยุทธ์การรับมือ แผนลงทุน และแผนรุกตลาดเพื่อพลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาส

 

ดันเป้า 1.2 พันล้าน 

 

นายภิญโญ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ต่อด้วยสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อบริษัทในเรื่องของแผนการทำตลาดที่อาจทำให้ล่าช้าออกไปบ้าง เนื่องจากตลาดส่งออกกว่า 40% ของบริษัทอยู่ที่ยุโรป  แต่บริษัทก็ยังคงเดินตามกลยุทธ์ทางธุรกิจที่วางเอาไว้  

 

ทั้งเรื่องของการลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) เพิ่มในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เนื่องจากแต่ละประเทศ จะมีสภาพถนนที่แตกต่างกัน  ทำให้เกิดความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายตามการใช้งาน 

 

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดให้ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น เช่น จากเดิมในตลาดรถจักรยานยนต์จะเน้นขายเฉพาะโช้คหลังเพียงอย่างเดียว ก็จะมีการเพิ่มผลิตภัณฑ์โช้คหน้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกเปลี่ยนได้ครบทั้งคัน และเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งาน

 

และการเพิ่มกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้ครบตามความต้องการของลูกค้าทั้ง 3 กลุ่ม ทั้งระดับล่าง กลาง และบน กับรถบางรุ่นที่ได้รับความนิยม จากเดิมที่บริษัทจะเน้นเจาะตลาดกลางถึงบนเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อขยายฐานตลาดลูกค้าให้กว้างมากขึ้น 

บริษัทยังมีแผนที่จะเปิดศูนย์กระจายสินและบริการแบบครบวงจร (Distribution and Service center) บนพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท  ซึ่งภายในศูนย์ฯจะมีทั้งการให้บริการติดตั้งโช้คที่ถูกต้อง รวมถึงพื้นที่ในการการทดสอบ มีอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อให้เป็นศูนย์ฯต้นแบบของบริษัท

 

หลังจากนั้นก็จะกระจายไปยังที่อื่น ๆ ในส่วนภูมิภาคในรูปแบบของบริษัทลงทุนเอง หรืออาจจะให้ตัวแทนจำหน่ายของบริษัทเป็นผู้ลงทุนในรูปแบบของแฟรนไชส์ โดยคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จประมาณปลายปีนี้ หรืออย่างช้าประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 

 

ขณะที่ในส่วนของตลาดโช้คอัพสำหรับรถยนต์บริษัทได้เริ่มดำเนินการมาแล้ว 3 ปี โดยจะเพิ่มฐานลูกค้าไปยังต่างประเทศ หรือตลาดส่งออก จากเดิมที่ยังทำตลาดเฉพาะในประเทศเป็นหลัก  ซึ่งจากกลยุทธ์การทำตลาดดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้ประมาณ 1,200 ล้านบาทในปีนี้ หรือเติบโตขึ้นประมาณ 15% จากปีที่ผ่านมา ที่บริษัทมีรายได้ประมาณ 1,030 ล้านบาท 

 

YSS รุกหนัก ตลาดโช้คอัพ ลุยแผนเจาะรถอีวี

 

ทิศทางอุตฯยังเติบโตสูง
 

นายภิญโญ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมโช้คอัพยังสามารถเติบโตได้อีกมาก จากตลาดยังมีความต้องการในระดับสูง แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19  หรือราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น มีผลทำให้การเดินทางลดลง แต่ก็จะมีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเพิ่มสมรรถนะให้กับรถ

 

หรืออย่างในประเทศไทยที่ต้องยอมรับว่าถนนไม่ได้ดีเท่าไรนัก ดังนั้นจึงมีผลทำให้โช้คคู่ตัวรถที่ออกแบบมาจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น หรือยุโรปไม่ตอบโจทย์เท่าใดนัก ลูกค้าอาจจะไม่พึงพอใจกับโช้คอัพที่มาพร้อมกับรถ  และต้องการปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น

ทั้งนี้พฤติกรรมของผู้ใช้รถทั้งในและต่างประเทศไม่แตกต่างกัน โดยจะมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจระบบช่วงล่างของรถเดิมที่ถูกออกแบบมา และต้องการปรับเปลี่ยน ซึ่งในยอดขายรถจำนวน 100 คันอาจจะมีประมาณ 5-10 คันที่ไม่พอใจ โดยเพียงเท่านี้ตลาดก็ใหญ่พอ เพราะรถที่ขายมีถึงหลักแสนถึงหลักล้านคัน 

 

“เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ที่กำลังเข้ามาจะส่งผลกระทบต่อบริษัท หรือไม่ อย่างไรนั้น มองว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบ เนื่องจากรถอีวีก็ต้องมีโช้คอัพเป็นส่วนประกอบ ซึ่งบริษัทเองก็มีการศึกษา และได้ดำเนินการปรับเทคโนโลยีบางอย่างเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตอบโจทย์รถอีวีในอนาคตมากขึ้น”  

 

อย่างไรก็ดี หากถามว่ากำลังซื้อที่ลดลงในปัจจุบันจะมีผลกระทบหรือไม่นั้น ต้องดูว่าลูกค้าอยู่ในกลุ่มไหน โดยความต้องการของผู้บริโภคกับรถจะเปรียบเสมือน ปิรามิด ซึ่งจะมีทั้งล่าง กลาง และบน โดยกำลังซื้อที่จะถูกกระทบมากที่สุดคือระดับล่าง  

 

ส่วนกลุ่มระดับกลาง และบนจะกระทบน้อย ซึ่งบริษัทได้วางตำแหน่งทางการตลาดไว้ที่ระดับกลาง และบนเป็นหลัก จึงไม่ถูกกระทบมากนัก เนื่องจากบริษัทเล็งเห็นว่าในตลาดล่าง ไม่สามารถแข่งขันทางด้านต้นทุนกับผู้ผลิตจากประเทศจีนได้

 

เตรียมเข้าระดมทุน SET

 

ซีอีโอ วาย.เอส.เอสฯ กล่าวอีกว่า ในยุคที่มีการแพร่ระบาดของโควิด และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้บริษัทต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การทำตลาดเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย โดยมุ่งเน้นช่องทางผ่านดิจิทัลเป็นหลัก ซึ่งมองว่าเป็นข้อดีเนื่องจากในอีกมุมหนึ่งก็จะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านของต้นทุนการเดินทาง เพียงแต่อาจจะมีปัญหาในเรื่องของการเหลื่อมเวลากับคู่ค้าต่างประเทศ  ทำให้ไม่สามารถประชุมพร้อมกันได้ แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นปัญหาที่มากมายเท่าใดนัก  

 

บริษัทยังมีแผนที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ประมาณต้นปีหน้า (2566) โดยเชื่อว่าจะได้ประโยชน์จากเรื่องของเงินทุน  รวมถึงการดำเนินธุรกิจร่วมกับคู่ค้า  ซึ่งจะเห็นภาพของบริษัทที่ดูมีความน่าเชื่อถือ  มั่นคง ทำให้เกิดความน่าสนใจในการเข้ามาร่วมลงทุน  

 

ในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าการทำธุรกิจยุคปัจจุบัน  หรืออนาคตจะต้องมีเพื่อนร่วมทำธุรกิจ หรือหุ้นส่วนกันซึ่งจะเป็นการนำข้อดี หรือความเชี่ยวชาญของทั้ง 2 องค์กรมาต่อยอดในการขยายฐานลูกค้า 
 

 

ในอีกมุมหนึ่งในการค้นหาบุคลากรเข้ามาร่วมงานก็จะหาง่ายขึ้น เนื่องจากทุกคนก็มีความต้องการทำงานในบริษัทมหาชน  ซึ่งมีระบบการบริหารงานที่โปร่งใส  สามารถตรวจสอบได้ และเป็นองค์กรที่ยั่งยืน โดยบริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการวางระบบการบริหารงาน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ เรียกว่าเป็นการปูพื้นฐานมาตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา