นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย – ตุรกี (Turkey-Thailand Free Trade Agreement) ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ไทยและตุรกีได้จัดการประชุมคณะทำงานด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Working Group on Rules of Origin: WGROO) เพื่อหารือประเด็นคงค้างเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะชี้ให้เห็นถึงการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสินค้าที่ซื้อขายระหว่างกัน
“ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อดูแลการดำเนินการด้านนี้ โดยเฉพาะหลังความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ตกลงเรื่องการรักษาความลับของข้อมูลการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าอีกด้วย โดยคณะทำงานด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้ายังคงเดินหน้าประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้การเจรจามีความคืบหน้ามากที่สุด”
ทั้งนี้ ไทยเคยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม FTA ไทย – ตุรกี ครั้งที่ 8 ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนการจัดประชุมออกไป ซึ่งไทยมีแผนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรอบต่อไป ในเดือน มิ.ย.นี้
โดยจะเร่งรัดการเจรจาในประเด็นคงค้าง อาทิ การค้าสินค้า สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า และประเด็นกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า โดยจะเร่งเดินหน้าการเจรจา FTA ไทย – ตุรกี ให้สำเร็จและสามารถสรุปผลได้ภายในปีนี้
“การจัดทำ FTA ระหว่างไทยและตุรกีจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าของไทยมากขึ้น เนื่องจากตุรกีเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 80 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ อีกทั้งจะเป็นประตูการค้าไปสู่หลายประเทศ ทั้งสหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกาตอนเหนือ และเอเชียกลาง” นางอรมนเสริม
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 – 2564) ไทยและตุรกีมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเฉลี่ยต่อปี 1,465.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 0.30% ของมูลค่าการค้ารวมของไทยกับโลก โดยในปี 2564 ไทยการส่งออกไปยังตุรกี มีมูลค่า 1,310.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 38.97% จากปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วน ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน เส้นใยประดิษฐ์ สิ่งทอ และอาหารแปรรูป