นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดประชุมภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกร ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ เพื่อรับฟังความเห็นต่อการจัดทำกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) ที่กรมฯ เร่งเปิดการเจรจา FTA กับกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อขยายการค้าของไทยไปตลาดโลก
โดยการประชุมครั้งนี้ ได้ข้อสรุปกรอบการเจรจา FTA ไทย - เอฟตา โดยกรมฯ จะนำกรอบดังกล่าว เสนอนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
พิจารณาเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติต่อไป ทั้งนี้ หาก ครม.เห็นชอบ กรมฯ จะประสานแจ้งฝ่ายเอฟตาทราบ เพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-เอฟตา ต่อไป
“เอฟตาเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายการทำ FTA ของไทย เนื่องจากมีนโยบายการค้าเสรี มีกำลังซื้อสูง มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และเป็นนักลงทุนที่สำคัญ ซึ่งการศึกษาเบื้องต้น พบว่า การจัดทำ FTA ไทย-เอฟตา จะช่วยเพิ่มแต้มต่อและโอกาสการแข่งขันของสินค้าและบริการของไทยในตลาดเอฟตา และดึงดูดนักลงทุนจากกลุ่มเอฟตามาไทยในสาขาที่เอฟตามีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะสาขาที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง”
ทั้งนี้ เอฟตาได้แสดงความสนใจที่จะเปิดการเจรจา FTA กับไทย ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา กรมฯ ได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ศึกษาผลกระทบของการจัดทำความตกลงฯ และเผยแพร่ผลการศึกษาบนเว็บไซต์ www.dtn.go.th รวมทั้งได้จัดสัมมนาเผยแพร่ข้อมูลและระดมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะ
สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ การค้าระหว่างไทยกับเอฟตา ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 10,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเอฟตา มูลค่า 4,540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากเอฟตา มูลค่า 5,470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องสำอาง ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม