วันที่ 9 เมษายน 2565 ที่สนามการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมยางพารา 2565 “นครแห่งนวัตกรรมยางพาราโลก” และกล่าวว่า ปีนี้เป็นปีทองของพี่น้องเกษตรกร
แม้จะประสบภาวะวิกฤติอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ปีนี้ด้วยแนวนโยบายและความสามารถการบริหารงาน ของการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) และคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ในการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ให้อยู่ในจุดที่ดีที่สุดในรอบหลายปี และสามารถยืนราคานี้ได้ พร้อม ๆ กับความร่วมมือกับภาคเอกชน
ต้องยอมรับว่าการบริหารงานองค์กรองค์กรหนึ่ง ไม่สามารถที่ประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จากพี่น้องภาคเอกชน ผู้ประกอบการ จากพี่น้องชาวสวนยาง ผลสุดท้ายก็คือความสำเร็จ ที่จะให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ได้ราคายางที่พึงพอใจและสามารถอยู่ได้
"ถามว่าราคายางพาราปัจจุบันพอใจมั๊ย ก็ยังไม่พอใจ ผมต้องการให้ราคายางสูงกว่านี้ เพราะคุณค่าและมูลค่าของยางที่เรามี สามารถเอาไปทำประโยชน์สารพัดอย่าง มันควรที่จะต้องได้ราคาสูงกว่านี้ เพราะฉะนั้นวันนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมคิดคือว่า ทำอย่างไรจะสามารถรักษาเสถียรภาพราคา และทำให้ยางราคาดีขึ้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก”
รัฐมนตรีเกษตรฯกล่าวต่อว่า อันดับแรกคือ เป็นเรื่องของพี่น้องเกษตรกร ในการรักษาคุณภาพของน้ำยางเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การดูแลบำรุงรักษา โดยการยางแห่งประเทศไทย จะเข้ามาดูแลเรื่องนโยบายการบริหารในภาพรวม วันนี้ถ้าเรายังคิดแค่จะขายยางแผ่น น้ำยางสด ยางก้อนถ้วย เพียงอย่างเดียว ก็คงจะได้ราคายางในระดับนี้ เพราะนั้นยางในวันนี้จะต้องใช้นวัตกรรมยางพาราไทยกับเศรษฐกิจยุคใหม่
“ผมถือว่าตรงเป้า และตรงประเด็นที่สุด เพราะวันนี้ถ้าเราจะเพิ่มมูลค่าของพาราเราได้ นั่นหมายถึง เราจะต้องใช้นวัตกรรม ใช้เทคโนโลยี และงานวิจัยต่าง ๆ เข้ามาเสริม ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูป เพิ่มมูลค่าต่าง ๆ เราสามารถทำได้”
การผลักดันเพิ่มมูลค่ายางพารา มีการยางแห่งประเทศไทยรับผิดชอบโดยตรง และร่วมมือจับมือกับภาคเอกชน ผมอยากเห็นพี่น้องเอกชน ที่ประกอบธุรกิจการยางในทุกประเภท รวยเป็นพันเป็นหมื่นล้าน อยากเห็นมาก เพราะเชื่อว่า ถ้าท่านรวย พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางต้องได้รับด้วย
"เพราะนั้นนโยบายของเราคือ การส่งเสริมและผลักดันให้เอกชน ผู้ประกอบการ ผู้ลงทุน เข้ามามีส่วนร่วมในส่วนที่จะใช้สิ่งต่าง ๆ มาเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา การมาเปิดงานที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรงจุดที่สุด ผมอยากเห็นประเทศไทยเป็นศูนย์ของยางพาราของโลก ผมมั่นใจว่าเรามีศักยภาพ ผมมั่นใจว่ายางพาราของเรามีคุณภาพดีที่สุดในโลก ตราบเท่าที่ผมยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมต้องผลักดันให้จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเมืองหลวงยางพาราให้ได้"
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า สิ่้งที่เราทำไมเฉพาะนครศรีธรรมราชที่ได้ แต่พี่น้องชาวสวนยางพาราทุกจังหวัดท จะได้รับผลตรงนี้ทั้งหมด เพราะจะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรม จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่า หรือเพิ่มมูลค่ามากขึ้น เราสามารถสร้างมูลค่ากับสิ่งที่เราดำเนินการได้มากขึ้น และผลทั้งหมดก็จะไปตกกับพี่น้องเกษตรกรของเรา
โดยถ้าทำอย่างนั้นได้ ยางพาราเกิน 100 บาทแน่นอน เพราะฉะนั้นเราจะต้องมาช่วยกัน ผมในฐานะฝ่ายการเมือง ฝ่ายดูแลนโยบาย การกับผมก็ผลักดันเต็มที่ การยางแห่งประเทศไทยที่รับผิดชอบ บอร์ดการยางอนุมัติกำหนดแนวทาง ทุกภาคส่วน ต้องมาช่วยกันผลักดันเพื่อให้เกิดขึ้นให้ได้
“พี่น้องภาคเอกชนถ้ามันเกิดขึ้นท่านก็ได้รับประโยชน์ พี่น้องเกษตรกรก็ได้รับประโยชน์ การยางแห่งประเทศไทยได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ อย่างน้อยที่สุดผมในฐานะที่กำกับดูแลผมก็ได้หน้าไปด้วย”
ส่วนการดูแลชาวสวนยางนั้น นายเฉลิมชัยกล่าวว่า วันนี้รัฐบาลไม่ต้องใช้เงินชดเชยส่วนต่างของการประกันรายได้ชาวสวนยางแล้ว การประกันรายได้ไม่ได้จะทำให้ร่ำรวย แต่อย่างน้อยในภาวะวิกฤต รัฐบาลมาดูแลให้ได้เงินไม่น้อยกว่าที่กำหนด ทำให้อยู่ได้ไม่เดือดร้อน ที่ทำมาเรื่อย ๆเงินในการดูแลชาวสวนยางก็ลดลงเรื่อยๆ จาก 24,000 ล้านบาทในปีแรกที่ราคายาง 3 กิโลกรัม หรือถึง 4 กิโลกรัม 100 บาท
ปีที่สองเราจ่ายแค่ 7,000 กว่าล้านบาท เนื่องจากราคายางเริ่มขยับ จนกระทั่งมาถึงปีนี้ปีที่ 3 เราใช้จ่ายไปแค่ 2,000 กว่าล้าน และได้บอกผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทย ว่า ถ้าเป็นไปได้ท่านอย่าใช้เงินอีกแล้วนะ ต้องทำราคายางให้เกินราคาประกันให้ได้เหมือนทุกวันนี้ ถ้ารัฐบาลไม่ต้องเสียเงินส่วนนี้ ก็เอาไปพัฒนาอย่างอื่นได้ รวมถึงอาจดูเรื่องสวัสดิการให้ชาวสวนยางเพิ่มเติมอีก เพราะขวัญและกำลังใจสำคัญที่สุด
หากพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางมีขวัญและกำลังใจ จะมีพลังในการทำงาน จะผลิตน้ำยางพาราที่มีคุณภาพ จะมีสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในวงการยางทั้งหมด นี่คือสิ่งที่เราจะได้เห็นการเริ่มต้นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้