ที่ผ่านมากลายเป็นประเด็นต่อเนื่องอย่าง การต่ออายุสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่พบว่ามีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยในการต่อสัญญาสัมปทานฯในครั้งนี้ โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมที่ค้านหัวชนฝา อีกทั้งการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 65 บาท ซึ่งมีราคาแพง จะทำให้เป็นภาระแก่ประชาชนได้
ถึงแม้ว่ากระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร (กทม.) พยายามผลักดันการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเวลาอีก 30 ปี โดยขอขยายอายุสัมปทานไปถึงปี 2602 จากสัมปทานปัจจุบันที่จะสิ้นสุดปี 2572 ให้บีทีเอสแลกกับหนี้ค้างชำระ กว่า 3.8 หมื่นล้านบาท เข้าที่ประชุมครม.หลายครั้ง แต่ไม่เป็นผล โดยทุกครั้งที่มีกระแสการนำวาระดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาจะถูกถอดออกและไม่เคยได้รับการพิจารณา
สำหรับการนำวาระดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีถูกเลื่อนออกไปถึง 8 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา พบว่ารัฐมนตรีทั้ง 7 คนของพรรคภูมิใจไทยต่อต้านโดยอ้างว่าติดภารกิจและแจ้งที่ประชุมจะไม่ขอร่วมการประชุม ครม.
ทั้งนี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมาบีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อศาลปกครองเพื่อทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถพร้อมดอกเบี้ย วงเงิน 12,000 ล้านบาท ซึ่งศาลได้ผ่อนปรนให้ กทม. เป็นระยะเวลา 2 เดือนเพื่อหาเอกสารหลักฐานนำมาชี้แจงต่อศาล
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวว่า สำหรับคืบหน้าการทวงหนี้จ้างเดินรถกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด นั้น ปัจจุบันศาลปกครองได้รับเรื่องไว้พิจารณา โดยกำหนดให้กทม.และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ยื่นเอกสารทำคำชี้แจงเพื่อประกอบการพิจารณาทั้ง 2 ฝ่ายต่อศาลฯ ภายในสัปดาห์นี้ แต่ทางกทม.และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ขอเลื่อนส่งเอกสารดังกล่าวออกไปก่อน โดยที่ผ่านมาบีทีเอสได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถ จำนวน 12,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 15 ก.ค.2564)
“ส่วนการฟ้องร้องระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) จำนวน 20,000 ล้านบาท ต่อศาลปกครองเพิ่มเติมนั้น เราขอดูรายละเอียดและเอกสารหลายๆอย่างประกอบกันก่อน เพราะต้องมีการปรึกษากับทนายถึงการฟ้องร้องดังกล่าวว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง เรายังยืนยันที่จะฟ้องทวงหนี้ในส่วนนี้แน่นอน ปัจจุบันบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ไม่ได้มีการเจรจาเรื่องทวงหนี้กับบีทีเอสเลย ที่ผ่านมาเคยเจรจาแล้วและได้เสนอเรื่องต่อกทม.เพื่อนำเข้าสภากทม.แต่ก็ไม่ได้รับการอนุมัติ“
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนภาระหนี้สะสมที่ภาครัฐมีต่อบีทีเอสตั้งแต่เดือนเมษายน 2560-ปัจจุบัน มีหนี้ค่าจ้างเดินรถและหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) รวมดอกเบี้ย จำนวน 38,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ค่าจ้างเดินรถ จำนวน 18,000 ล้านบาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) จำนวน 20,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีมูลหนี้รวมอยู่ที่ 32,000 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมากทม.ไม่ได้มีการชำระหนี้ในส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้าและช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ตั้งแต่เปิดให้บริการ