“จุรินทร์” สั่งรื้อยุทธศาสตร์ข้าวโพด ถูกท้วงผลผลิตต่ำ

16 เม.ย. 2565 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2565 | 03:11 น.

“จุรินทร์” สั่งทบทวนยุทธศาสตร์ข้าว โพดใหม่ หลังสภาเกษตรฯ ท้วง ผล ผลิตต่อไร่ของเกษตรต่ำกว่าความเป็นจริง คาดข้าวโพดหลังนาปีนี้สูงกว่า 1,000-1,200 กก.ต่อไร่ เป็นเหตุให้ รง.อาหารสัตว์เรียกร้องขาดแคลนวัตถุดิบ สมาคมการค้าพืชไร่ชี้ไฟเขียวนำเข้า 1.5 ล้านตันไม่สมเหตุสมผล

“ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ มีแหล่งเพาะปลูกสำคัญแถบจังหวัดเพชรบูรณ์ นครราชสีมา และอื่นๆ เกษตรกรส่วนใหญ่จะทำการเพาะปลูก 2 ฤดู คือ ข้าวโพดฤดูฝน จะปลูกในช่วงมีนาคม-ตุลาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณเดือนมิถุนายน–มกราคมของปีถัดไป

 

ส่วนข้าวโพดฤดูแล้ง จะเริ่มปลูกในเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน มีนาคม - เมษายนของปีถัดไป ปัจจุบันข้าวโพดมีการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามภาวะการเติบโตของภาคปศุสัตว์ โดยเฉพาะไก่เนื้อ และสุกร

 

 

“จุรินทร์” สั่งรื้อยุทธศาสตร์ข้าวโพด ถูกท้วงผลผลิตต่ำ

 

ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศกว่า 4.52 แสนราย และยังมีกลุ่มผู้ประกอบการเกี่ยวกับข้าวโพดในระดับต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการค้าพืชไร่ ตลาดกลาง กลุ่มผู้ส่งออก โรง งานผลิตอาหารสัตว์และผู้เลี้ยงสัตว์ โดยที่ปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยมีประมาณปีละ 4 ล้านตันเศษ ซึ่งมักจะประสบปัญหาราคาตกต่ำในช่วงต้นฤดู เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันจำนวนมาก และระดับราคาจะสูงขึ้นในช่วงปลายฤดู จากผลผลิตมีน้อย ขณะที่ความต้องการของโรงงานอาหารสัตว์มีอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปีนี้เป็นปีที่มีวิกฤติทับซ้อนจากโรคระบาดโควิด-19 และจากเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน  ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติ โดยนายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอต แลนติกเหนือ หรือนาโต้ (NATO)  คาดการณ์สงครามมีแนวโน้มยืดเยื้อนานนับปี (รัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารบุกยูเครน 24 ก.พ. 65)  จากผลกระทบดังกล่าว เป็นที่มาของยุทธศาสตร์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี พ.ศ. 2564-2567 ที่มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

 

เติมศักดิ์ บุญชื่น

 

นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะทำงานด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.)  เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 สาระสำคัญส่วนหนึ่ง ได้มอบหมายให้คณะยุทธศาสตร์กลับไปทบทวนตัวเลขใหม่

 

โดยระบุว่าผลผลิตต่อไร่ของเกษตร ฤดูแล้ง 782 กิโลกรัม (กก.) ต่อไร่ ส่วนในช่วงฤดูฝน 728 กิโลกรัมต่อไร่ ประเมินผลผลิตต่ำมาก เป็นสาเหตุที่สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย  ใช้เป็นเหตุผลในการขอยกเลิกมาตรการ 3: 1 ชั่วคราว (ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน นำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน) โดยขอนำเข้าข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ เข้ามาทดแทน 1.5 ล้านตัน จากความต้องการไม่พอใช้ทั้งสิ้น 3 ล้านตัน

 

 

ทั้งนี้ปีนี้ข้าวโพดหลังนาผลผลิตคาดจะไม่ต่ำกว่า 1,000-1,200 กิโลกรัมต่อไร่ จึงอยากให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ต้องนำผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร จากกรมส่งเสริมการเกษตร นำมาคูณด้วยจำนวนผลผลิตต่อไร่ จะได้ผลผลิตรวมที่แท้จริง แต่ที่ผ่านมาใช้ตัวเลขแค่ 3 แสนไร่ แต่จากข้อมูลขึ้นทะเบียนเชิงลึก เกษตรกรขึ้นทะเบียนหลังนากว่า 6 แสนไร่ และยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่ไม่มาขึ้นทะเบียน ประกอบกับปีนี้น้ำดีอุดมสมบูรณ์ มีฝนหลงฤดู อีกทั้งพื้นที่อยู่ในเขตชลประทานมีน้ำสม่ำเสมอ ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ต้องสูงขึ้น

 

“การยกเลิกมาตรการ 3 : 1 ชั่วคราว เป็นการใช้ข้อมูลที่บิดเบี้ยว ทำให้องค์กรที่เข้าร่วมประชุม และเกษตรกร เกิดความคลางแคลงใจ เป็นที่มาของสมาคมการค้าพืชไร่ไม่เห็นด้วย และมีการแสดงเชิงสัญลักษณ์โดยไม่เข้าที่ประชุม เป็นเหตุให้ต้องมีการประชุมรอบใหม่ โดยรองนายกฯ จุรินทร์ ให้อำนาจคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ตัดสินใจได้เลยว่าจะมีมติยกเลิกมาตรการ 3: 1 ชั่วคราวหรือไม่ หรือถ้ายกเลิกชั่วคราวจะให้นำเข้า ปริมาณเท่าไร ถึงจะเหมาะสม”

 

พรเทพ ปู่ประเสริฐ

 

ด้าน นายพรเทพ ปู่ประเสริฐ นายกสมาคมการค้าพืชไร่ กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่เข้าร่วมประชุมนั้นจากมติสมาคมฯ ยังไม่เห็นด้วยกับตัวเลขนำเข้า 1.5 ล้านตัน จึงไม่อยากเข้าประชุม เพราะเกรงว่าจะทะเลาะกัน ซึ่งในการพิจารณามาตรการนี้เป็นสิ่งล่อแหลมมาก หากตัดสินใจผิดพลาดเกษตรกรทั้งประเทศจะได้รับผลกระทบแล้วเกิดความเสียหายมายังเม็ดเงินของภาครัฐที่จะเข้าไปอุดหนุนเกษตรกรอีก เกิดวัฏจักรเดิม

 

ทั้งที่ในสถานการณ์ปัจจุบันไม่สมควรที่จะมาใช้ภาษีของภาครัฐที่จะมาจ่ายเงินชดเชย (ประกันรายได้) ก็อยากแสดงให้เห็นว่าควรจะรอบคอบ ตัวเลขในการคำนวณที่จะมาปลดล็อกมาตรการยังไม่สมเหตุสมผล

 

หน้า 9 ฉบับที่ 3,774 วันที่ 14-16 เมษายน 2565