4 ค่ายขนส่งรับอานิสงส์ รัฐอุ้มดีเซลไม่เกิน 30 บาท ปรับแผนกระจายความเสี่ยง

18 เม.ย. 2565 | 10:22 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2565 | 17:42 น.

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากช่วงก่อนหน้าที่อยู่เฉลี่ย 75 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ขึ้นไปทำนิวไฮในรอบหลายปี จนเคยทะลุระดับ 130 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล (7 มี.ค. 65)

 

นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดว่า ราคาน้ำมันดิบปีนี้จะอยู่ที่เฉลี่ย 90-110 ดอลลาร์สหรัฐฯบาร์เรล ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมี ขนส่ง และโรงไฟฟ้า ซึ่งมีน้ำมันเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจ

 

อย่างไรก็ตามเมื่อสำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร บจ.ในธุรกิจขนส่ง พบว่า ส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นหลัก และรับอานิสงส์จากการที่รัฐพยุงราคา (รัฐตรึงราคาดีเซลไม่เกิน  30 บาทต่อลิตร สิ้นสุด เม.ย.นี้ และจะช่วยสนับสนุนราคาส่วนเพิ่ม 50% ในเดือน พ.ค. และมิ.ย.) ขณะเดียวกันได้มีการป้องกันความเสี่ยงประเด็นดังกล่าวไว้แล้ว ผลกระทบระยะสั้นจึงยังไม่มีนัยสำคัญ แต่ยังคงติดตามสถานการณ์ระยะยาวอย่างใกล้ชิด และพร้อมปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม เพื่อควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ

 

4 ค่ายขนส่งรับอานิสงส์ รัฐอุ้มดีเซลไม่เกิน 30 บาท ปรับแผนกระจายความเสี่ยง

 

  • รับอานิสงส์ตรึงดีเซล

นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.)  หรือ WICE ระบุว่า ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง ยังไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทในขณะนี้ เพราะรัฐบาลได้มีการพยุงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งยังไม่เกินราคาต้นทุนน้ำมันที่บริษัทตั้งไว้

 

อย่างไรก็ตามบริษัทเตรียมมาตรการบริหารต้นทุนขนส่งรองรับสถานการณ์ดังกล่าวไว้อยู่แล้ว โดยการกำหนดราคาต้นทุนน้ำมันอยู่ในค่าบริการขนส่งให้เป็นลักษณะขั้นบันได ซึ่งจะใช้สำหรับสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีสัญญาระยะยาวที่เป็นลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัท

 

ทั้งนี้มีการอัพเดตสถาน การณ์พร้อมปรับราคาต้นทุนน้ำมันทุกเดือน สำหรับกลุ่มลูกค้าส่วนน้อยที่เป็นสัญญาระยะสั้น และมีการเจรจากับลูกค้าก่อนที่จะปรับราคาทุกครั้ง เพื่อรักษาอัตราค่าบริการให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

 

สำหรับการขนส่งทางเรือและทางอากาศ บริษัทมีการใช้น้ำมันและอ้างอิงราคาน้ำมันที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบการให้บริการ รวมถึงเกณฑ์ราคาน้ำมันของแต่ละสายการบิน และสายการเดินเรือขนส่ง โดยจะเป็นค่าบริการที่เรียกเก็บพร้อมกับค่าระวางเรือ และค่าระวางทางอากาศ

 

น้ำมันคิดเป็น 30% ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งบริษัทมีการติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมพร้อมรับมืออยู่เสมอ เพื่อรักษาต้นทุนและความสามารถในการทำกำไรให้อยู่ในระดับที่ดีต่อไป”

 

  • น้ำมันแพงยังไม่มีนัยต่อธุรกิจ

เช่นเดียวกับ นายปิยะเตชากูล กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอทีพี 30 (ATP30) ระบุว่า บริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบที่มีนัยสำคัญจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะภาครัฐมีนโยบายพยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร

 

ขณะเดียวกันมีการบริหารความเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันอยู่แล้ว เพราะถือเป็นต้นทุนหลักของการดำเนินธุรกิจ ประมาณ 22% ของต้นทุนทั้งหมด โดยสัญญากับลูกค้าส่วนใหญ่ เป็นค่าบริการแปรผันกับราคาน้ำมัน อีกทั้งมีการวางแผนควบคุมค่าใช้จ่ายมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการปรับปรุงพัฒนาด้วยพฤติกรรมคนขับรถ เช่น ลดการวิ่งเที่ยวเปล่า ศึกษาเส้นทางการให้บริการ

 

ล่าสุดยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมค่าใช้จ่าย โดยพัฒนาเทคโนโลยีชื่อว่า Robotic Process Automation (RPA) หุ่นยนต์ที่จะช่วยมอนิเตอร์การเคลื่อนที่และการใช้รถอยู่ตลอดเวลา ทำให้บริษัทสามารถใช้รถได้อย่างประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ การประหยัดน้ำมัน เป็นต้น นอกจากนี้อยู่ระหว่างศึกษาการให้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มเติม เพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจในอนาคต

 

“การที่ราคาน้ำมันขึ้นถือเป็นทั้งวิกฤติและโอกาส โดยวิกฤติอาจทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่โอกาส คือ ทำให้ความคุ้มค่าของรถไฟฟ้า เมื่อเปรียบเทียบกับรถน้ำมันมัน มีความคุ้มค่าเร็วขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสทำให้การเกิดของธุรกิจรถไฟฟ้ามีมากขึ้นเช่นกัน”

 

  • ไม่กระทบหากรัฐยังคุมดีเซล

นางสุวรรณา ขจรวุฒิเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.มีนาทรานสปอร์ต (MENA) ให้ความเห็นว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันและก๊าซนั้น อาจมีผลกระทบส่วนต่างของราคาน้ำมันในช่วงระหว่างกลางเดือนอยู่บ้างแต่ไม่มาก หากว่าภาครัฐยังคงตรึงราคาไว้ที่ไม่เกิน 30 บาทได้ต่อไป ก็ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ และยังอยู่ในภาวะที่บริษัทยังคงบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี รวมถึงรถขนส่งบางส่วนใช้ก๊าซ NGV ทำให้มีต้นทุนที่ค่อนข้างถูก สามารถเฉลี่ยต้นทุนโดยรวมได้

“ในปีนี้ บริษัทเริ่มสตาร์ทรถใหม่ให้บริการขนส่งสินค้าบ้างแล้วบางส่วน และยังรอส่งมอบรถใหม่เข้ามาเพิ่มเติมในอีก 1-2 เดือนนี้ นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสในการเติบโตในเทรนด์ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง เพื่อผลักดันให้ MENA เป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางบกที่มีรถให้บริการได้หลากหลายประเภทและอุตสาหกรรม”

 

  • สัญญายืดหยุ่นปรับขึ้นราคาได้

นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) ระบุว่า ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีผลกระทบไม่มากนัก เพราะทำสัญญากับลูกค้าไว้ค่อนข้างยืดหยุ่นเรื่องต้นทุน โดยในสัญญาน้ำมันราคาปรับขึ้นเท่าไร บริษัทสามารถปรับได้กี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนลูกค้า SPOT ได้เร่งให้ทีมงานเจรจาปรับราคาได้

 

“โดยรวมผลกระทบไม่มากเพราะส่วนใหญ่มีสัญญาอยู่แล้ว ซึ่งต้นทุนน้ำมันเป็นต้นทุนหลักราว 40% ของธุรกิจกลุ่มขนส่ง ในส่วนที่ยังไม่มีสัญญาก็เร่งเจรจาอยู่ ซึ่งยังคงมั่นใจว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1/65 จะเติบโตดีกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่ง 2 เดือนแรกของปีนี้เติบโตดี และเดือน มี.ค. ยังเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนว่าเราไม่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น”

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่  3775 วันที่  17 – 20 เมษายน 2565