นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยถึงกรณีที่ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. ยื่นหนังสือคัดค้านกลุ่มทุนเข้ายึดเส้นทางรถเมล์ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่า ขณะนี้ ขสมก.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ระยะสั้น เนื่องจากปัจจุบันขสมก. อยู่ระหว่างรอเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯ ปี 2562 (ฉบับปรับปรุง) โดยรูปแบบการทำแผนระยะสั้นมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ระหว่างที่รอการพิจารณาแผนฟื้นฟูฯ ฉบับปรับปรุงแล้วเสร็จ ซึ่งจะใช้วิธีการจัดหารถให้บริการโดยการจ้างเอกชนมาวิ่งรถไฟฟ้าอีวีตามระยะทาง ซึ่งเอกชนจะต้องจัดหารถปรับอากาศ และพนักงาน มาให้บริการ โดยเขตการเดินรถทั้ง 8 เขต ของ ขสมก.จะเป็นผู้ดำเนินการบริหารตารางการเดินรถ และกำหนดความถี่ในการให้บริการเดินรถ
นายกิตติกานต์ กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณในการดำเนินการจ้างเอกชนเดินรถฟฟ้าอีวี นั้น ขสมก.จะใช้งบประมาณ จากรายได้ในการบริหารการเดินรถ เช่น ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถโดยสารสาธารณะ และค่าใช้เกี่ยวกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ส่วนกรณีที่สหภาพฯ ขสมก.ตั้งข้อสังเกตว่า การเหมาจ้างให้เอกชนมาเดินรถ คันละ 6,000 กว่าบาทต่อวัน สูงเกินกว่าความเป็นจริงหรือไม่ นั้น หากคิดต้นทุนตามข้อเท็จจริง รถขสมก.ครีมแดง มีค่าใช้จ่ายต้นทุนต่อคันต่อวัน เกิน 6,000 บาท แบ่งเป็น ค่าเหมาซ่อม 1,400 บาทต่อคัน ค่าเชื้อเพลิงหากคิดค่าดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 28-30 บาท อยู่ที่ 2,600 บาทต่อกิโลเมตร ค่าจ้างคนขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ขสมก. 3,000 บาทต่อคันต่อวัน แต่หากจัดหารถใหม่ จะมีต้นทุนดำเนินการใกล้เคียงกับการขอเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO)
"เบื้องต้นคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก.ได้พิจารณาเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯ ระยะสั้น โดยนำร่องในการจ้างเอกชนมาวิ่งรถไฟฟ้าอีวีตามระยะทาง จำนวน 224 คัน จากทั้งหมด 400 คัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) คาดว่าจะประกาศประกวดราคาได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากนั้น จะดำเนินการจัดหารถได้ภายในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2565 หากมีผู้คัดค้านอาจทำให้ระยะเวลาการประกวดราคาขยับออกไปได้"
นายกิตติกานต์ กล่าวว่า หลังจากประกาศประกวดราคาแล้วเสร็จ ขสมก.ต้องดำเนินการขอใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยกำหนดหลักเกณฑ์ว่าภายในระยะเวลา 1 ปี ต้องบรรจุรถใหม่ไม่น้อยกว่า 30% ซึ่งขณะนี้มีเส้นทางการเดินรถจำนวน 107 เส้นทาง ในจำนวนนี้บรรจุรถโดยสารให้บริการแล้ว 17 เส้นทาง และเหลือรถที่ต้องบรรจุฯ อีก 90 เส้นทาง ส่วนกรณีที่ขสมก. จะเก็บค่าโดยสาร 30 บาทต่อคนต่อวัน โดยไม่จำกัดจำนวนเที่ยวการเดินทาง นั้น ราคาดังกล่าวอยู่ในแผนฟื้นฟูฯ ที่ยังไม่ได้รับการเห็นชอบจากครม. โดยยืนยันว่า จะยังใช้ราคาปกติรถครีมแดง 8-10 บาท ส่วนรถปรับอากาศ 15-25 บาทตามระยะทาง ทั้งนี้ ปัจจุบันขสมก. มีผู้โดยสาร 5-6 แสนคนในวันธรรมดา และ 3-4 แสนคนในวันหยุด ซึ่งแตกต่างจากปี 2562 ที่มีผู้ใช้บริการ 9 แสนคนต่อวัน
นอกจากนี้ ขสมก.ยังมีปัญหาเรื่องการขาดทุนสะสมต่อเนื่อง อยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดเฉลี่ย 4,000 ล้านบาทต่อปี ได้แก่ ต้นทุนในการซ่อมบำรุงรถ 1,600 ล้านบาทต่อปี ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 1,200 ล้านบาทต่อปี ค่าก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) 512 ล้านบาทต่อปี และค่าบุคลากร 1,500 ล้านบาทต่อปี