อดีตขุนคลัง"ธีระชัย"ชี้ 3 ข้อสังเกตุ ปม"ทอท.แจงเรื่องแก้ไขสัญญาดิวตี้ฟรี"

22 เม.ย. 2565 | 02:19 น.
อัพเดตล่าสุด :22 เม.ย. 2565 | 09:20 น.

"ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล"ตั้ง 3 ข้อสังเกต ปมการชี้แจงทอท.เกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาดิวตี้ฟรี ทั้งในเรื่องการพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน ผลประโยชน์ รายได้ของ ทอท. และการบังคับใช้ว่าเป็นอำนาจของรัฐ หวังเป็นบรรทัดฐานให้แก่รัฐวิสาหกิจอื่นในอนาคต

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว "Thirachai Phuvanatnaranubala" ตั้งข้อสังเกต ปมการชี้แจงทอท.เกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาดิวตี้ฟรี  3 ประเด็น ดังนี้


ทอท. ชี้แจงเรื่องการแก้ไขสัญญาดิวตี้ฟรี

 

สำนักข่าวอิศราเผยแพร่คำชี้แจงของ ทอท. เกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาดิวตี้ฟรีว่า

 

ประเด็นที่ 1 ทอท.ได้จัดทำประมาณการรายได้ 'กรณีมี' และ 'ไม่มี' มาตรการพยุงสถานะทางธุรกิจฯ โดยคำนวณจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ต่างๆ พบว่า หาก ทอท.ไม่มีมาตรการดังกล่าว จะส่งผลให้รายได้ในปี 2565 ของ ทอท. อยู่ที่ 17,098 ล้านบาท ในขณะที่หาก ทอท. มีมาตรการดังกล่าวรายได้ปี 2565 ของ ทอท.จะอยู่ที่ 20,136 ล้านบาท

 

ประเด็นที่ 2 ทอท.ได้วิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย ผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ ตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ อย่างครบถ้วน และพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ

 

ประเด็นที่ 3 ทอท.ได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อพิจารณา และได้รับการยืนยันจากหน่วยงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ แล้วว่า กรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ

 

ผมเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะจะเป็นบรรทัดฐานให้แก่รัฐวิสาหกิจอื่นในอนาคต จึงขอตั้งข้อสังเกตเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ทางราชการและแก่ ทอท. ดังนี้
 

ข้อสังเกตสำหรับประเด็นที่ 3

 

ผมได้เห็นเอกสารว่า หน่วยงานที่ สคร.อ้างถึงดังกล่าวคือบันทึกของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แต่ผมเห็นว่า พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 10 วรรคสองเกี่ยวกับคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ บัญญัติให้ ผอ.สศค.เป็นเลขานุการ และให้ สศค.ปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการฯ

 

เนื่องจากผู้ลงนามในบันทึก สศค.ไม่ใช่ ผอ.สศค. จึงไม่ได้ทำหน้าที่เลขานุการ และ สศค.ในฐานะหน่วยงานธุรการ ก็ไม่มีอำนาจตีความการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ผมจึงขอเสนอแนะให้มีการตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่า บันทึก สศค.ดังกล่าวอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

 

ข้อสังเกตสำหรับประเด็นที่ 2

 

มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่บัญญัติให้รัฐวิสาหกิจต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ นั้น อยู่ในหมวดที่ 1 บททั่วไป ซึ่งมีอยู่ 4 มาตรา ตั้งแต่มาตรา 6 จนถึงมาตรา 9 

 

ทั้งสี่มาตราดังกล่าวเป็นข้อบัญญัติแก่รัฐ โดยมาตรา 6 และมาตรา 8 ระบุว่ารัฐเป็นผู้มีหน้าที่ ส่วนมาตรา 9 ระบุว่า ครม.เป็นผู้มีหน้าที่ ดังนั้น ถึงแม้มาตรา 7 ไม่ได้ระบุคำว่า รัฐ หรือ ครม. แต่โดยเนื้อหา หมวดทั่วไปใช้บังคับแก่รัฐ 
ผมจึงมีความเห็นส่วนตัวว่า หมวด 1 ทั้งหมวดใช้บังคับแก่รัฐ และผู้ที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาตามมาตรา 7 คือ ครม. มิใช่รัฐวิสาหกิจใด

ข้อสังเกตสำหรับประเด็นที่ 1

 

การที่ ทอท.ได้จัดทำประมาณการรายได้ 'กรณีมี' และ 'ไม่มี' มาตรการพยุงสถานะทางธุรกิจฯ นั้น ผมเห็นว่าเป็นเรื่องดี ทำให้มีข้อมูลครบถ้วนและรอบคอบ 

 

แต่ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า การพิจารณาดังกล่าวไม่อาจถือเป็นการพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ ตามนัยของมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ได้ เพราะกรณีมาตรา 7 น่าจะต้องเป็นการพิจารณาเปรียบเทียบรายได้ของ ทอท. เฉพาะระหว่าง กรณีไม่แก้ไขสัญญา กับกรณีแก้ไขสัญญา เป็นสำคัญ

 

ผมจึงขอเผยแพร่เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อราชการเป็นสำคัญ และขอแนะนำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำข้อสังเกตไปศึกษาและใช้ประกอบการพิจารณาว่าถูกต้องหรือไม่