ระบบการเงินโลกจะรีเซ็ทอย่างไร? หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน (ตอน3)

18 เม.ย. 2565 | 23:05 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2565 | 06:23 น.

เพราะอะไร? ในอนาคต นักประวัติศาสตร์จะต้องจารึกว่า ระเบียบใหม่ ในด้านการเงินโลกได้เกิดขึ้นในสงครามยูเครนปี 2022 นี่เอง ชาติตะวันตกใช้ทั้งดอลลาร์และระบบการเงินเป็นอาวุธหนักจัดการกับรัสเซีย ที่เป็นผู้รุกราน แต่เหตุใด? ความพยายามนี้ จึงไม่เกิดผล! บทความนี้มีคำตอบ

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกเล่ามุมมองเกี่ยวกับ “ระเบียบใหม่” หรือ New World Order ในด้านการเงินโลก ที่กำลังเกิดขึ้นในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผ่านทางบทความ “ระบบการเงินโลกจะรีเซ็ทอย่างไร?” แบ่งเป็น 3 ตอน นำเสนอในเพจเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน 2565 มีรายละเอียดเนื้อหาในตอนจบ (บทความที่ 3) ดังนี้

 

อ่านเพิ่มเติม: ระบบการเงินโลกจะรีเซ็ทอย่างไร? หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน (ตอน1) (ตอน2)

 

การเงินโลกจะรีเซ็ทอย่างไร? (บทความที่ 3)

New World Order ด้านการเงินโลก เกิดขึ้นในสงครามยูเครนปี 2022 เรียกง่ายๆ ว่า Bretton Woods 3.0

สหรัฐได้ยกระดับขั้นระเบิดนิวเคลียร์เศรษฐกิจโดยเพิ่ม 2 มาตรการใหญ่ คือ

  • หนึ่ง ตัดธนาคารรัสเซียออกจากระบบ swift ซึ่งใช้ติดต่อโอนเงินกับธนาคารอื่นทั่วโลก และ
  • สอง ยึดทุนสำรองของธนาคารชาติรัสเซีย

 

Bretton Woods 3.0 จะมีผลต่อดอลลาร์แบบน้ำซึมบ่อทราย ทั้งในฐานะ reserve currency ฐานะ transaction currency และฐานะ capital market currency

 

ฐานะ reserve currency

บัดนี้ทุกประเทศรู้แล้วว่า ทุนสำรองที่ลงทุนในดอลลาร์ จะถูกยึดเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้น ในระยะยาว บางประเทศจะเลี่ยงลงทุนน้อยลง

  • ทางเลือกที่หนึ่ง ซื้อทองคำและเก็บเอาไว้ในประเทศตนเอง
  • ทางเลือกที่สอง ซื้อเงินคริปโท แต่ขนาดตลาดเงินคริปโท 2 ล้านล้านดอลลาร์ ยังเล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดทองคำ 12 ล้านล้าน (สำรองทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 11-12 ล้านล้านดอลลาร์)
  • ทางเลือกที่สาม ซื้อพันธบัตรรัฐบาลประเทศที่เป็นมิตร เช่น จีน แต่ขนาดตลาดเล็กและมีสภาพคล่องน้อยกว่าดอลลาร์มาก

ฐานะ transaction currency

กลุ่มประเทศตะวันออก จะพัฒนาระบบที่แยกจากดอลลาร์

 

  • ทางเลือกที่หนึ่ง สองประเทศค้าขายโดยใช้สกุลของตนเอง กรณีนี้ เมื่อประเทศหนึ่งขาดดุลมาก ก็ต้องนำส่งทองคำไปเคลียร์บัญชีเป็นคราวๆ
  • ทางเลือกที่สอง สร้างสกุลเงินใหม่ กลุ่มประเทศตะวันออก BRIC Brazil Russia India China กำลังจะศึกษาสร้างเงินสกุลใหม่ ทำนองเดียวกับ Bancor แต่อาจจะใช้ commodities และทองคำหนุนหลัง แต่จะมีปัญหาว่า องค์กรที่จะบริหารศูนย์ตัดบัญชีนี้ จะตั้งอยู่ที่ไหน ที่เป็นกลาง 100% ปลอดภัย 100%
  • ทางเลือกที่สาม ใช้เงินคริปโท เงินคริปโท stable coin สกุลดอลลาร์ จะติดปัญหาว่า สำหรับคอยน์ที่มีดอลลาร์จริงหนุนหลัง 100% ขณะนี้ผู้ออกอยู่ในสหรัฐ ซึ่งมีอำนาจจะเรียกข้อมูลผู้ออกรายใหญ่ที่อยู่นอกตะวันตก ขณะนี้รายใหญ่มีรายเดียวคือ Binance แต่ก็อาจจะถูกบีบให้ส่งข้อมูลในอนาคตก็ได้ทั้งนี้ อาจจะมีการสร้างเงินคริปโทที่มีทองคำจริงเก็บรักษาในประเทศเป็นกลางหนุนหลัง 100% ก็ได้ แต่จะมีปัญหาด้านแหล่งที่ตั้งเช่นกัน
  • ทางเลือกที่สี่ ใช้ดิจิทัลหยวน ซึ่งใช้ได้ทั้งกรณีประเทศนั้นค้าขายกับจีน และกรณีค้าขายกับประเทศที่สาม แต่ก็จะเปลี่ยน จากอยู่ภายใต้การสอดส่องของสหรัฐ ไปเป็นจีน ทั้งนี้ การใช้บิตคอยน์ จะติดปัญหาว่า ราคายังหวือหวาอยู่มาก ก็จะต้องเปลี่ยนราคาที่กำหนดเป็นบิตคอยน์บ่อย

ฐานะ capital market currency

การที่ประเทศกลุ่มตะวันออก จะพัฒนาตลาดทุนที่ดีเท่าตะวันตก จะใช้เวลาอีกนานมากหลายปี เนื่องจากจีนและอินเดียไม่เปิดเสรีทางการเงิน

ส่วนการพัฒนาเงินคริปโท de-fi นั้น กว่าจะสร้างตลาดทุนได้ใหญ่พอ ยังจะใช้เวลาอีกนาน

ดังนั้น ปัญหานี้จะแก้ยากที่สุด เว้นแต่เศรษฐกิจใหญ่จริงๆ เช่นจีนและรัสเซีย ที่อยู่ได้โดยไม่พึ่งตลาดทุนสากล แต่การพัฒนาประเทศก็ย่อมจะช้าลง

 

ถามว่า จะเกิดผลต่อรัฐบาลสหรัฐอย่างไร?

ถ้าต่างชาติซื้อพันธบัตรรัฐบาลน้อยลง ดอกเบี้ยระยะยาวก็จะสูงขึ้น เฟดจะต้องซื้อแทนมากขึ้น เงินเฟ้อจะสูงขึ้น เศรษฐกิจจะบูมน้อยลง และดอลลาร์จะอ่อนลง แต่จะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

 

ถามว่า รัฐบาลไทยควรมีจุดยืนอย่างไร?

ในเอเปก พ.ย. และทุกเวทีโลกจากนี้ไป คาดได้ว่าสหรัฐจะมีข้อเสนอกติกาใหม่ๆ เพื่อปิดทางหลบออกจากระบบดอลลาร์ ซึ่งกลุ่มตะวันออกจะไม่ชอบ

ส่วนกลุ่มตะวันออก ก็จะพยายามเสนอความร่วมมือ เพื่อหาทางหลบ ซึ่งสหรัฐจะไม่ชอบ

เนื่องจากไทยจะอยู่ท่ามกลางการค้าภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งจีนเป็นศูนย์กลาง ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงควรระวังข้อเสนอของสหรัฐ และหาทางโปรโมทแนวคิดของกลุ่มตะวันออก

ถ้ารัฐบาลไทยยังไม่คิดล่วงหน้าเรื่องนี้ ประธานเอเปกก็จะเป็นแค่ลูกฟุตบอล ที่ประเทศโน้นเตะที ประเทศนี้เตะอีกที

 

(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)

หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ