ผู้สื่อข่าวรายงานว่าอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) หรืออุทยานวิทยฯ ภาคเหนือ เปิดโครงการสตาร์ทอัพแพลต ฟอร์ม “Basecamp24” ให้เป็นแหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพสมบูรณ์แบบที่สุดในภาคเหนือ ด้วยโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจอย่างสมบูรณ์แบบ แวดล้อมด้วย Startup Ecosystem แบบครบวงจรตลอด 24 ชั่วโมง
ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า โครง การ Basecamp24 เป็นโปรแกรมการบ่มเพาะผู้ประกอบการ หรือนักธุรกิจในพื้นที่ภาคเหนืออย่างเต็มรูปแบบ
และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเด็นที่ 5 เรื่องการวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สำคัญของประเทศ ชุมชน และท้องถิ่น ที่ต้องพัฒนางานวิจัยที่มีศักยภาพ ตลอดจนสามารถใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัย มาบูรณาการร่วมกัน และสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสังคม
“คาดหวังและเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า Basecamp24 นี้ จะสามารถบ่มเพาะผู้ประกอบการเกิดเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ พร้อมผลักดันให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เรียนรู้การเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงการทำธุรกิจ Startup ให้ประสบผลสำเร็จ เป็นกลไกสำคัญทำให้ยุทธศาสตร์ที่วางไว้เกิดผลเป็นรูปธรรม ช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของภาคเหนือได้อย่างยั่งยืน”
ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า Basecamp24 คือการสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และพร้อมผลักดันผู้ประกอบการ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีอุทยานฯคอยเป็นพี่เลี้ยงนำทางในทุกเส้นทางการเติบโตแบบ 24 ชั่วโมง จากประสบการณ์กว่า 10 ปีที่สร้างผู้ประกอบการกว่า 240 บริษัท สังเคราะห์ออกมาเป็น กระบวนการพัฒนาผู้ประกอบการ 24 ขั้นตอน (24 STEP)
“คาดว่าภายในปี 2570 หรือ 5 ปีจากนี้ Basecamp24 จะสร้างสรรค์ไอเดียธุรกิจได้มากกว่า 2,000 ไอเดีย เกิดเป็นธุรกิจ Startup กว่า 480 บริษัทมีการจ้างงานในพื้นที่มากกว่า 7,200 ราย และธุรกิจที่เติบโตจากโครงการนี้จะสามารถสร้างมูลค่าธุรกิจ (Business Valuation) มากกว่า 18,000 ล้านบาท เกิดมููลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 26,640 ล้านบาท รวมทั้งขยายผลความสำเร็จสู่เครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ จนถึงพันธมิตรในต่างประเทศ” ผอ.อุทยานวิทยฯภาคเหนือ ยํ้า
ด้านวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ก็เปิดตัวโครง การ Alpha Academy นวัตกรรมการเรียนการสอนรูปแบบสื่อดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Learning Platform)สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา เพื่อเป็นการเตรียมกำลังคนด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นทักษะยุคใหม่ที่จำเป็นทั้งในการประกอบอาชีพและในชีวิตประจำวัน
ผศ.ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดเผยว่า โครงการ Alpha Academy มุ่งเน้นพัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้แก่นักเรียนในระดับมัธยม ศึกษาโดยได้คัดเลือกองค์ความรู้ที่เหมาะสมและจำเป็นสำหรับเยาวชนในยุคปัจจุบัน เน้นการพัฒนาทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะสารสนเทศ สื่อเทคโนโลยี ทักษะชีวิตและอาชีพ
ปัจจุบันมีเนื้อหาหลักสูตรที่จัดสอน มีจำนวน 5 หลักสูตรได้แก่ หลักสูตรพาณิชย์อิเล็ก ทรอนิกส์ (E-Commerce) หลัก สูตรการพัฒนาแอปพลิเคชัน (Rapid Application) หลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการเว็บไซต์ (Web Management) หลักสูตรเทคโนโลยีควบคุมอัจฉริยะ (Interactive Embedded Software) และหลักสูตร เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech)
ด้านแพทย์หญิงนวพร นะลิตา ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าโครงการเชียงใหม่ คริปโต ซิตี้ หรือ “Chiangmai Crypto City” (CCC) จากการรวมกลุ่มของผู้ที่เชื่อมั่นในเทคโนโลยีบล็อกเชน และต้องการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมายกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต จังหวัดเชียงใหม่ ล่าสุดมีผู้เข้าร่วมชุมชนนี้กว่า 2,600 คนจากหลากหลายสาขาอาชีพ
“โครงการดังกล่าวถือเป็นโซเชียลเอ็นไพรส์ ที่รวมคนเก่งที่มีศักยภาพ เข้ามาร่วมออกแบบ วางแผน การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนในสาขาต่างๆ มาใช้ประโยชน์ได้อีกมาก มาย ช่วยยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างมหาศาล”
นภาพร ขัติยะ/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,776 วันที่ 21-23 เมษายน พ.ศ.2565