นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน) เปิดเผยในสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 2 โครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคา และการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ว่า โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เป็นระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงการเดินทางจากพื้นที่ในเขตปริมณฑลสู่ใจกลางกรุงเทพฯ และเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่งมวลชนทางราง ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ของรัฐบาล ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ของกระทรวงคมนาคม ภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางให้แก่ประชาชน
ขณะเดียวกันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องหาแนวทางในการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการลงทุนโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และส่วนต่อขยายทั้ง 4 เส้น ทั้งการบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมถึงการบริหารสถานีกลางบางซื่อและสถานีในโครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดงตลอดแนวเส้นทาง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน โดยได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินโครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และได้จัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง
นายคณพศ วชิรกำธร ผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟสายสีแดง มูลค่าการลงทุนรวม 4.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งานโยธางานระบบและจัดหาขบวนรถ 1.88 แสนล้านบาท, การดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 2.22 แสนล้านบาท และงานเพิ่มเติม 3.87 หมื่นล้านบาท โดยโครงการนี้มี 6 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางที่เปิดบริการแล้ว 2 เส้นทาง วงเงินรวม 1.09 แสนล้านบาท ได้แก่ 1. ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร(กม.) และ 2.ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.3 กม และยังไม่ได้ก่อสร้าง ได้แก่ 1.ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง หรือ Missing Link ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 4.96 หมื่นล้านบาท ทางวิ่งเป็นระดับดิน, ยกระดับ และใต้ดิน มี 9 สถานี ผู้โดยสาร 7 หมื่นคนต่อวัน
2. สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6.64 พันล้านบาท ทางวิ่งระดับดิน มี 4 สถานี ผู้โดยสาร 3 หมื่นคนต่อวัน, 3.สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม ประกอบด้วย สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และสถานีบ้านฉิมพลี ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 1.06 หมื่นล้านบาท และ 4. สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4.73 พันล้านบาท ซึ่งสายสีแดงอ่อน มีทางวิ่งทั้งระดับดิน และยกระดับ มี 7 สถานี ผู้โดยสาร 3.8 หมื่นคนต่อวัน ทั้งนี้ส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างแล้ว รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) แล้ว มีเพียงช่วงรังสิต - มธ.ศูนย์รังสิต อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะจัดทำร่างประกาศเชิญชวนร่างเอกสารการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนภายในเดือนพ.ค.นี้
จากผลการศึกษาการร่วมลงทุนโครงการฯในครั้งนี้พบว่ามีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 30.96% อัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) อยู่ที่ 7.70% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 6,594 ล้านบาท อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน (B/C Ratio) อยู่ที่ 1.05 ซึ่งมีความเหมาะสมในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ (PPP Net Cost) สัญญาสัมปทาน 50 ปี คาดได้ผลตอบแทนตลอดอายุสัญญาสัมปทานมูลค่า 5.81 แสนล้านบาท ทั้งนี้รฟท.จะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาและระบบรถไฟฟ้า ขณะที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดหาขบวนรถ การให้บริการเดินรถ รวมทั้งการบำรุงรักษาและจัดเก็บรายได้
“เมื่อเอกชนได้รับสัมปทานโครงการฯแล้ว จะต้องชำระคืนค่าสิทธิ์ขบวนรถไฟสายสีแดงทั้ง 2 ช่วงที่มีการเปิดให้บริการ จำนวน 6,000 ล้านบาท โดยเอกชนจะได้สิทธิ์การดำเนินการตามสัญญาและแบกรับความเสี่ยงในการบริหารงาน เมื่อสิ้นสุดสัมปทานจะต้องโอนสิทธิ์ให้กับภาครัฐ”
สำหรับแผนดำเนินงานในโครงการส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดง ทั้ง 4 เส้นทาง แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.90 กม.จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนม.ค.67-มิ.ย.71 ระยะเวลาก่อสร้าง 54 เดือน เปิดให้บริการปี 2571 ส่วนช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์รังสิต (มธ.) ระยะทาง 8.84 กม. ,ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.70 กม.จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนม.ค.67-ธ.ค. 69 ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน เปิดให้บริการปี 2570 นอกจากนี้หากมีการเปิดให้บริการโครงการครบทั้งระบบคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการในปีแรก 423,400 ต่อคนต่อเที่ยวต่อวัน